การเขียนพู่กัน

ศิลปะการเขียนอักษรจีน (1)

อักษรจีน
อักษรจีน

ศิลปะการเขียนอักษรจีน (1) ความรู้เรื่องวิวัฒนาการของตัวอักษร อักษรจีนถือกำเนิดขึ้นในสมัยโบราณ สามารถย้อนหลังไปได้ประมาณห้าพันปี ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เป็นอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกตะวันออกเรา

๑. แบบแรกของตัวอักษรคืออักษรที่บันทึกบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ เป็นรูปแบบง่ายๆ เรียกรวมๆ ว่า เจียกู่เหวิน อักษรในสมัยแรกเป็นอักษรภาพที่มาจากภาพจริงๆ เสียส่วนใหญ่ และไม่ใคร่มีตัวประสม

๒. ต่อมาตัวอักษรวิวัฒนาการซับซ้อนยิ่งขึ้น มีแบบที่เรียกว่าตัวทอง หรือ จินเหวิน ซึ่งหน้าตาก็ยังคงเป็นภาพง่ายๆ

๓. ยุคต่อมาเป็นสมัยชุนชิว อักษรมีเส้นเพิ่มขึ้นเยอะมาก และมีการเขียนด้วยอุปกรณ์ที่ดีขึ้นเช่นแทนที่จะใช้เหล็กจารบนกระดองเต่าก็ ใช้พวกถ่านเขียนบนผ้าดิบ อักษรยุคนี้แต่ละตัวมีวิธีเขียนหลายแบบต่างกันออกไปในแต่ละแคว้น แต่มีแบบที่ใช้ในราชสำนักโจวเรียกว่า ต้าจ้วน มีพัฒนาการมาจากตัวกระดองเต่ามากแล้ว มีการประสมอักษรและสร้างอักษรใหม่ๆ ที่ไม่ได้มาจากภาพวาดมากขึ้น

๔. เนื่องจากต้าจ้วนมีขีดเส้นมากมายเหลือเกิน และมีรูปแบบต่างๆ กันมากในแต่ละแคว้น เมื่อฉินอ๋องรวบรวมแผ่นดินจึงได้กำหนดแบบอักษรให้ใช้เป็นมาตรฐาน อักษรนี้ย่อมาจากต้าจ้วนอีกที มีความสวยงามมากขึ้น เรียกชื่อว่าเสี่ยวจ้วน ใช้เป็นอักษรทางการตั้งแต่สมัยฉินมา ตอนนี้มีพู่กันเขียนแล้ว การเขียนอักษรจึงสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย

๕. ในราชวงศ์ฉินยังมีอักษรแบบหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นตัวย่อมาจากเสี่ยวจ้วน เรียกว่าอักษรแบบฉิน รูปแบบของตัวอักษรค่อนข้างเหลี่ยมและยึกยือ เป็นแบบแรกๆ ที่ใช้เขียนกับพู่กัน และวิธีลากเส้นยังไม่ได้มีการคิดค้นได้สวยงาม จึงดูเลอะๆ ยังไงบอกไม่ถูก ปัจจุบันคนฝึกเขียนอักษรแบบนี้หายากเต็มทน แต่ก็ยังมีอยู่

๖. ในราชวงศ์ฮั่นมีการสร้างอักษรอีกแบบขึ้นมาเรียกว่าอักษรลี่ ซึ่งมาจากการเขียนของชาวบ้านร้านตลาด ตัวอักษรถูกปรับปรุงจนเกือบเหมือนแบบปัจจุบัน และต่างจากอักษรจ้วนตรงที่สัดส่วนของอักษรจ้วนนั้นเป็นแบบผอมสูง แต่อักษรลี่นั้น จะแบนๆ ช่วงแรกที่อักษรลี่ถูกพัฒนาขึ้นมายังไม่ได้ใช้เป็นทางการ ในราชสำนักยังคงใช้อักษรจ้วน ส่วนอักษรลี่ใช้เขียนสื่อสารกันแบบจดหมายส่วนตัว ซึ่งในภาพยนตร์สามก๊กเขาก็ใช้แบบนี้กันทั้งนั้น ปัจจุบันมีผู้หัดเขียนอักษรลี่มาก ผมเป็นคนหนึ่งที่ถนัดอักษรแบบนี้

๗. จากอักษรลี่ก็มีการพัฒนาตัวเขียนหวัดขึ้นมา ตัวหวัดครั้งแรกที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่า จางเฉ่า ซึ่งคล้ายกับหวัดในปัจจุบัน แต่มีข้อแตกต่างอยู่หลายประการ ปัจจุบันมีตัวหวัดอีกชุดหนึ่งที่พัฒนามาจากตัวหวัดแบบเก่าอีกที อักษรหวัดเป็นอักษรที่เส้นเรียบง่าย แต่อ่านยากมาก เพราะมีการเชื่อมตัวเข้าด้วยกันและตัดทอนเส้นอย่างน่าเกลียด เช่นยี่สิบเส้นเหลือสองเส้น เป็นต้น และมีรูปอักษรที่ซ้ำๆ กันมาก ทำให้การอ่านต้องอาศัยบริบทพอสมควร ปัจจุบันอักษรหวัดมักใช้เขียนงานศิลป์ ถึงแม้เส้นจะดูยุ่งเหยิงเหมือนเขียนสั่วๆ ยังไงก็ได้ แต่การเขียนให้สวยนั้นยากมาก ถือว่าเป็นศิลปะขั้นสูงของวิชาเขียนอักษร

๘. ภายหลังไม่นานในสมัยราชวงศ์ฮั่นนี่เองมีการประดิษฐ์อักษรอีกแบบเรียกว่า อักษรไข่ คือตัวบรรจงสมัยปัจจุบัน ซึ่งในตอนแรกยังเขียนกันในวงแคบเพราะเขียนยากกว่าอักษรลี่ ต่อมาความนิยมอักษรแบบนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสวยงามของมัน ในสมัยราชวงศ์จิ้นมันจึงกลายเป็นอักษรทางการแทนอักษรลี่ไปในที่สุด อักษรไข่นั้นนับเป็นมาตรฐานของตัวอักษร และเป็นก้าวแรกของการฝึกเขียน ใครที่จะเรียนเขียนอักษรควร (ไม่ได้บอกว่าต้อง) เริ่มฝึกจากอักษรชนิดนี้ สัดส่วนของอักษรไข่จะเป็นเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่เป็นตั้งอย่างอักษรจ้วนและแบนอย่างอักษรลี่

อักษรจีน-02
อักษรจีน-02

๙. ในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือซึ่งอยู่ในยุคราชวงศ์เหนือใต้มีอักษรอีกแบบผุดขึ้นมา เรียกว่าเว่ยเปย์ มีการเขียนที่คล้ายคลึงกับอักษรไข่แต่มีลักษณะพิเศษของเส้นนอน เส้นตะขอ และเส้นลากซ้าย ที่แตกต่างชัดเจน เว่ยเปย์ไม่ได้มีฐานะเป็นอักษรทางการเหมือนไข่ แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ฝึกมากเพราะเป็นอักษรที่สวยงามแบบหนึ่ง

๑๐. เพื่อการเขียนที่สะดวกมากขึ้นจึงเกิดอักษรแบบหนึ่งตามอักษรไข่มาติดๆ เรียกว่าอักษรสิง คำว่าสิงแปลว่าเดิน หมายถึงเขียนแบบสปีดเร็วขึ้นมาหน่อย ไม่บรรจงมากและก็ไม่หวัดถึงขนาดอ่านไม่ออก นั่นคือเรียกว่าอักษรกึ่งหวัดนั่นเอง เป็นอักษรที่ปัจจุบันใช้มากที่สุด และฟรีสไตล์ที่สุด ใครจะเขียนยังไงก็ได้ ผมเห็นจะต้องตั้งกระทู้แยกเรื่องอักษรสิงอีกทีหนึ่งเพราะว่ากว้างขวางมาก

๑๑. และแล้วก็มาถึงยุคของตัวพิมพ์ อักษรตัวพิมพ์ก็อย่างที่ท่านเห็นปัจจุบันแหละครับคงไม่ต้องพูดอะไรมากมาย

ตอนนี้ที่นิยมเขียนกันและเรียกว่าเป็นห้าแบบหลักของอักษรจีนคือ จ้วน ลี่ ไข่ สิง เฉ่า ครับ บางแบบเช่นจ้วนหรือเฉ่า (หวัด) ใช้ในงานศิลป์เสียส่วนมาก แบบอื่นก็ใช้เหมือนกันแต่ว่าใช้ทั่วไปด้วย เช่นคนธรรมดาจะเขียนอะไรทั่วไปก็ใช้อักษรสิง (กึ่งหวัด) เขียนแบบคัดลายมือใช้อักษรไข่ และบางท่านใช้อักษรลี่เขียนแทนทั่วๆ ไป ก็มี เพราะอักษรลี่ก็อ่านง่ายและดูเป็นระเบียบเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีลักษณะพิเศษที่บางท่านก็ชอบใจ เช่นการลากเส้นขวางที่ตวัดหางขึ้น ทำให้ดูอ่อนช้อย เป็นต้น

การเขียนพู่กัน
การเขียนพู่กัน

อุปกรณ์ในการเขียนอักษรจีนด้วยพู่กัน

• พู่กัน คือสิ่งที่ใช้ลากเส้น มีลักษณะเป็นด้ามยาว มีขนสัตว์ผูกรวมเป็นกระจุกอยู่ตรงปลาย ซึ่งขนสัตว์จะเลือกชนิดที่อ่อนนุ่มและซับน้ำได้ดี มักเห็นทั่วไปอยู่สองประเภทคือขนสุนัขป่า (สีเหลือง) และขนแพะ (สีขาว) นอกจากนี้ยังมีขนอื่นๆ เช่น กระต่าย พังพอน สุนัขจิ้งจอก ซึ่งจะให้ความอ่อนหรือแข็งที่แตกต่างกันไป

พู่กันขนสุนัขป่าซึ่งจะมีสีเหลือง (ความจริงเป็นสีน้ำตาล แต่ภาษาจีนเรียกว่าสีเหลือง) จะมีขนที่มันกว่าและแข็งกว่า ขนจะอยู่ตัวมากกว่า สามารถบังคับได้ง่าย อุ้มน้ำได้มาก พู่กันขนแพะจะมีขนแห้งและฝืดกว่า ขนจะแตกกระจายง่ายกว่า ทำให้ปลายพู่กันปัดไปมามากกว่า การอุ้มน้ำไม่ค่อยมี เหตุที่พู่กันมีสองประเภทก็เพื่อจะเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะอักษรที่จะ เขียน ไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่าพู่กันแบบหนึ่งดีกว่าอีกแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้เขียน แต่ในความเหมาะสมแล้ว พู่กันสีเหลืองเหมาะใช้กับอักษรประเภทแบบแผน และอักษรที่มีความแข็ง มีการตวัดน้อย เช่นอักษรจ้วน อักษรลี่ อักษรไข่ และยังเหมาะกับการเขียนอักษรที่ขนาดเล็ก เพราะปลายแข็งบังคับง่าย ส่วนพู่กันขาวเหมาะใช้กับอักษรที่มีลีลามากขึ้น เช่นอักษรสิง และอักษรเฉ่า หรืออักษรไข่บางแบบ ที่มีความสวยงามอ่อนช้อย

พู่กันบางตัวก็ใช้ขนเหล่านี้มารวมกันในอัตราส่วนต่างๆ เช่นสุนัขป่าเจ็ดส่วน แพะสามส่วน การทำเช่นนี้เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด ซึ่งผู้ใช้เองก็เลือกใช้ได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับความถนัดของตน

นอกจากปลายขนของพู่กันแล้ว ขนาดของพู่กันก็เป็นอีกสิ่งที่ควรคำนึงถึง โดยทั่วไปพู่กันจะมีขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ และ ใหญ่พิเศษ ซึ่งการจะเลือกใช้พู่กันขนาดใดก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะเขียนอักษรขนาดใด การเลือกพู่กันที่เหมาะสมกับขนาดตัวอักษรที่จะเขียน ช่วยให้ตัวหนังสือที่ออกมามีความสวยงามสมดุลผิดกับที่ใช้พู่กันผิดขนาด

วิธีการใช้พู่กันที่ดี จะต้องทำการเปิดพู่กันเสียก่อน เพราะพู่กันที่ซื้อมาจะทาปลายติดกันด้วยยางไม้เหนียวเพื่อให้มีรูปร่างแหลม สวยงาม การใช้พู่กันที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดควรทำให้ขนพู่กันมีการเคลื่อนไหวไปมา ในทิศทางต่างๆ ได้ง่าย จึงควรมีการเปิดปลายพู่กัน วิธีดังกล่าวคือเอาพู่กันนั้นไปรองใต้น้ำเย็นที่เปิดผ่านสักห้านาที พยายามขยี้ปลายให้แยกออกจากกันเป็นเส้น ไม่ต้องกลัวพู่กันแตกเพราะน้ำจะเป็นตัวช่วยรักษารูปทรงของพู่กันไว้ จากนั้นเช็ดพู่กันให้แห้ง จะสังเกตได้ว่าปลายนุ่มลง เอาไปเขียนได้แล้ว

การเปิดพู่กัน ไม่ต้องเปิดถึงโคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพู่กันที่มีขนยาว ให้เปิดปลายพู่กันเพียงประมาณสามส่วน เพราะโคนขนที่แข็งจะช่วยในการควบคุมปลายพู่กันไม่ให้สะบัดไปมา จึงไม่จำเป็นต้องเปิดพู่กันทั้งหมด พู่กันจะเสื่อมสภาพเองจากการใช้งาน ยิ่งใช้มาก ยางไม้ที่เกาะก็จะหลุดออก ทำให้ขนพู่กันแตกออกมาเองหากใช้ไปนานๆ พู่กันก็อาจจะบานหรือรุ่งริ่ง หากไม่โยนทิ้ง ก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์อื่นได้เช่นการวาดภาพ (ซึ่งนิยมมีพู่กันที่ปลายแตกแล้วเอาไว้ใช้ทำเทคนิคบางอย่าง)

• หมึก ที่นิยมใช้ในการเขียนอักษรจีน เรียกว่าหมึกจีน มักเป็นแบบแท่ง ผู้ที่นำมาใช้ต้องฝนเอง

แท่งหมึกทำเป็นขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน และมักมีลวดลายสีสันเพื่อความสวยงาม แท่งหมึกแท่งหนึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เสื่อมสภาพ จึงสามารถเป็นของสะสมได้ด้วย

ลักษณะหมึกแท่งที่ดีเป็นสีดำสนิท แข็ง เนื้อแน่น ไม่ปรุพรุน ไม่แตกร้าว ผิวด้าน เวลาจับไม่เปื้อนมือ ลวดลายของแท่งหมึกไม่เกี่ยวกับคุณภาพของหมึก หมึกแท่งหนึ่งมีอายุการใช้งานนานมาก สามารถผสมน้ำได้เป็นลิตร

ปัจจุบันมีหมึกขวดที่ผสมน้ำมาให้แล้ว แต่ว่าคุณภาพยังสู้หมึกฝนเองไม่ได้ และหมึกฝนเองก็มีดีกว่าตรงที่สามารถควบคุมความเข้มข้นของน้ำหมึกได้ตามต้อง การ

ความเข้มข้นของน้ำหมึกมีผลต่อลายเส้นที่เขียน หากเข้มข้นเกินไปเส้นจะแห้งเขียนไม่ติด หากใสเกินไปหมึกจะซึมเลอะเทอะ ควรควบคุมให้พอเหมาะก่อนลงมือเขียน หากไม่แน่ใจหากระดาษใช้แล้วมาลองลากเส้นดูก่อนเขียน

• จานฝนหมึก คือแท่นหินที่ใช้บดแท่งหมึกให้ออกมาเป็นน้ำ จานฝนหมึกมีหลายรูปทรง ทั้งกลม สี่เหลี่ยม รูปไข่ ฯลฯ มีลวดลายต่างกันไป แต่ที่สำคัญคือมีร่องสำหรับขังน้ำหมึก ดังนั้นจานฝนหมึกจึงต้องยกขอบสูงให้เป็นหลุมลงไปเพื่อขังหมึกไว้ด้านใน

จานฝนหมึกควรเป็นหินสีดำที่มีผิวด้าน ไม่เคลือบมัน จะทำให้ฝนหมึกได้ง่ายที่สุด แต่การฝนหมึกกับจานที่ด้านมากๆ อาจทำให้เกิดอาการเสียวฟัน (เหมือนเวลาขูดชอล์กบนกระดาน) ข้อนี้ไม่น่าวิตกอะไรเพราะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง

วิธีการฝนหมึกที่ดีคือ หยดน้ำลงในจานฝนหมึกเพียงเล็กน้อย จากนั้นจับแท่งหมึกวางลงไปในแนวตั้งฉาก ค่อยๆ บดแท่งหมึกลงบนผิวหน้าจานฝนหมึกวนเป็นวงกลม ออกแรงกดมากๆ ผงหมึกจะออกมาปนกับน้ำที่หยดไว้ หากฝนไปเรื่อยๆ น้ำหมึกจะข้นมากขึ้น ควบคุมความข้นให้อยู่ในระดับที่พอดี

เนื่องจากจานฝนหมึกดูดซับน้ำเร็วมาก หมึกจะแห้งไปในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อหมึกแห้งให้หยดน้ำแล้วฝนอีก ไม่ควรฝนหมึกทิ้งไว้ทีละมากๆ เพราะจะแห้งไปโดยเปล่าประโยชน์ หากใช้หมึกเหลือ ถ้าจานฝนหมึกมีฝาก็ควรปิดฝาไว้ แต่ทางที่ดีที่สุดก็ควรฝนแต่พอเขียน ไม่ให้มากไป

• กระดาษ ควรใช้แบบที่มีไว้เขียนพู่กันโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า เซวียน กระดาษชนิดนี้มีการดูดซับน้ำได้ดี และเมื่อดูดซับไม่ทำให้ลายเส้นแตกกระจาย กระดาษเซวียนมีขนาดและมีความหนาต่างๆ กัน นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งลวดลายให้สวยงาม หรือการใส่เกล็ดทองลงไปในเนื้อกระดาษ เพื่อทำให้ดูมีคุณค่า

กระดาษเซวียนมักจะบางมาก และในเนื้อกระดาษจะมีแนวเส้นลางๆ พอเห็นอยู่ทั่วแผ่น ราคาของกระดาษแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อกระดาษ

• ตราประทับ แกะสลักชื่อคนเขียนหรือตำแหน่งราชการหรือข้อความต่างๆ ตามแต่พอใจ ตราประทับเป็นสิ่งใช้แทนตัวมาแต่สมัยโบราณแล้ว โดยมักแกะสลักจากหยก งาช้าง หรือหินมีค่าอื่นๆ โดยแกะลงไปในเนื้อดวงตราอย่างตรงๆ เวลาใช้ตราประทัดต้องจิ้มตราลงบนชาดก่อนจึงจะใช้ประทับได้

อักษรที่ใช้แกะสลักตราประทับมักเป็นอักษรจ้วน ออกแบบอย่างงดงาม อักษรแบ่งได้เป็นสองแบบคืออักษรแดงและอักษรขาว อักษรแดงคือตราที่แกะรอบๆ ตัวอักษร ให้อักษรนูนขึ้นมา เมื่อใช้ประทับจะเห็นเป็นตัวอักษรสีแดงบนพื้นขาว อักษรขาวคือแกะตัวอักษรลึกลงไป เมื่อใช้ประทับจะเห็นเป็นตัวอักษรสีขาวบนพื้นแดง

ตราประทับเป็นสิ่งสำคัญมาก ในสมัยก่อนเป็นเครื่องหมายประจำตัวบุคคล คนผู้หนึ่งอาจมีตราประทับได้หลายดวง ใช้ในโอกาสต่างๆ กัน แต่จะมีตราทางการอยู่ดวงเดียว ใช้ในโอกาสที่มีความเป็นทางการสูง

• ชาด เป็นยางข้นสีแดงสดผสมน้ำมันงา ใช้กับตราประทับ วิธีใช้คือกดตราประทับลงบนผิวหน้าของชาด เมื่อดวงตราติดสีแดงแล้วจึงนำตรานั้นประทับลงกับกระดาษ กดแรงๆ พยายามให้ทุกส่วนของผิวหน้าดวงตราสัมผัสกับกระดาษ เพื่อให้ตราติดบนกระดาษชัดที่สุด เมื่อกดจนแน่นดีแล้ว ยกตราขึ้นอย่างรวดเร็ว การประทับตราที่ดีเมื่อยกตราขึ้นจะต้องมีเสียงอากาศเข้าดัง “ ฟึ่ด ” แสดงว่ากดตราประทับได้แน่นดีจนดูดกระดาษ

ชาดมักจะเก็บไว้ในตลับ โดยปกติแล้วสามารถใช้ได้นานเป็นปี ถ้าเริ่มจะแห้งและแข็งก็ดูแลด้วยการหยดน้ำมันงาลงไป ก็จะใช้ได้ดีเหมือนเดิม

ที่กล่าวมาเป็นอุปกรณ์การเขียนพู่กันโดยสังเขป อุปกรณ์ที่เหลือนอกจากนี้ก็เป็นของเล็กๆ น้อยๆ เช่นหินทับกระดาษไม่ให้ปลิว รางพาดพู่กันฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *