กู่ฉิน

กู่ฉิน

กู่ฉิน
กู่ฉิน

กู่ฉิน เครื่องดนตรีจีนที่มีประวัติอันยาวนาน หนึ่งในมรดกของโลกที่ทรงคุณค่า กู่ฉินคือพิณจีนเจ็ดสาย ซึ่งสืบทอดประวัติอันยาวนานของมันมาตั้งแต่สมัยจีนดึกดำบรรพ์ และปัจจุบันถูกกล่าวถึงในฐานะราชาแห่งเครื่องดนตรีจีน

ในสมัยชุนชิวเลียดก๊ก กู่ฉินเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงที่นิยมเล่นกันในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต ถึงแก่มีคำกล่าวไว้ว่า “ ขวามือตำรา ซ้ายมือกู่ฉิน ” เพราะศิลปะในการดีดกู่ฉินนั้นมีความลุ่มลึกละเอียดอ่อน ยากแก่การฝึกฝน โดยเฉพาะการดีดให้เกิดสุนทรียะ

คุณสมบัติของเสียงกู่ฉินคือ สูงต่ำผันแปรไม่สิ้นสุด ขึ้นสูงแล้วมุดลงต่ำ ย้อนซ้ำกลับไปสูง พลิ้วไหวและสั่นคลอน เสียดสีแข็งกระด้าง แผ่วเบาอ่อนโยน หยาบคายก็ได้สุภาพก็ได้ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มหัศจรรย์ยิ่งและเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ

ลักษณะทั่วไปของกู่ฉินคือ เป็นแผ่นไม้ยาวแบน ความยาววัดจากหัวถึงท้ายราว 120 เซนติเมตร กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร หนาประมาณห้าเซนติเมตร มีสายเจ็ดสาย ขนาดจากใหญ่ลงมาหาเล็ก มีจุดตามลำตัวเป็นเขตแสดงการกดสายเสียงสิบสามจุด มีเท้าตั้งสองข้าง

สายกู่ฉินมีชื่อเรียกเพราะๆ ต่างกันไปตั้งแต่สายบนสุดมายังสายล่างสุด

สายหนึ่ง เรียกว่า เทียนจวิน หรือ เทียน คือ สายจักรพรรดิ สายนี้แทนฟ้า เสียงใหญ่ทุ้มต่ำ ดีดเพียงครั้งเดียวก็จะสั่นสะเทือนทั้งตัวฉิน

สายสอง เรียกว่า ตี้เฉิน หรือ ตี้ คือ สายขุนนาง สายนี้แทนดิน มีสำเนียงทุ้มลึก หนักแน่นมั่นคง เดชของเสียงเป็นรองเพียงแค่สายฟ้า

สายสาม เรียกว่า เหริน คือ สายมนุษย์ เดิมทีสายนี้เป็นสายกลาง มีเสียงที่พอดีๆ มีเนื้อมีหนัง

สายสี่ เรียกว่า ซื่อร์ คือ สายกิจการ หมายเอาเรื่องราวทั้งปวง มีเสียงสูงพอเหมาะ

สายห้า เรียกว่า อู้ คือ สายสรรพสิ่ง เดิมทีเป็นสายสุดท้าย มีสำเนียงสูงโดด

สายหก เรียกว่า เหวิน คือ สายภูมิปัญญา กล่าวกันได้เพิ่มขึ้นโดยกษัตริย์พระองค์หนึ่งเติมสายนี้ขึ้นมาในการเล่นไว้ อาลัยให้กับโอรสของพระองค์ จึงมีสำเนียงที่วิเวกวังเวง และเศร้าสร้อย

สายเจ็ด เรียกว่า อู่ คือ สายฤทธิ์เดช ได้เพิ่มขึ้นหลังจากสายหกไม่นาน สำเนียงสูงมากจนเสียดแทง แต่แฝงไปด้วยความงดงามกังวาน แสดงถึงการศึก

ทำความเข้าใจกับกู่ฉิน

การดีดกู่ฉินนั้นจะตั้งสายเสียงเอาไว้ตามระดับ จากต่ำไปหาสูง โดยใช้ระบบเสียงจีนห้าตัวโน้ต คือ กุง ซาง เจวี๋ย จื่อร์ อวี่ ซึ่งการผันแปรอื่นนอกเหนือไปจากตัวโน้ตเหล่านี้จะใช้วิธีกดสายเสียงตามเขต ฮุย (จุดแสดงเสียง) ต่างๆ มีสิบสามจุด จากหัวไปท้าย มีชื่อดังนี้

ไท่ฌู่เจวี๋ย

เจียจุงเจวี๋ย

กู้สี่กุง

จุ้งหลวีจื่อร์

รุ่ยปิ้งจื่อร์

หลินจุงกุง

รฺวุ่น

อี๋เศอซาง

หนานหลวี่กุง

อู๋อี้กุง

อิงจุงอวี่

ฮว๋างจุงอวี่

ต้าหลวี่กุง

รูปร่างต่างๆ ของกู่ฉิน

กู่ฉินมีความแตกต่างกันที่รูปร่างของแผ่นไม้ เพราะรูปร่างของมันมิได้ให้ผลต่อเสียงจึงสามารถตัดแต่งขอบให้เป็นแบบต่างๆ สวยๆ งามๆ ได้หรือเรียบๆ ก็ได้ตามต้องการ

แต่ละรูปแบบของกู่ฉินมีชื่อเรียกต่างๆ กันออกไป ตั้งตามชื่อคนบ้างตามรูปร่างบ้าง ซึ่งที่ตั้งตามชื่อคนนั้นไม่ได้หมายความว่าคนนั้นเป็นคนคิดแบบ แต่เป็นการตั้งเพื่อยกย่องเท่านั้น

ต่อไปนี้เป็นรูปแบบของกู่ฉินที่เราจะพบได้ทั่วๆ ไป ท่านอ่านบทความนี้แล้ว มีใครมาบอกท่านว่า “กู่ฉินมันก็หน้าตายาวๆ แบนๆ เหมือนกันหมด” ท่านอย่าได้เชื่อเป็นอันขาด

1.ทรงจ้งหนี(仲尼式)

ทรงจ้งหนี
ทรงจ้งหนี

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าจ้งหนี เป็นแบบที่ได้รับความนิยมสูงสุด ชื่อของกู่ฉินแบบนี้ตั้งตามชื่อขงจื่อซึ่งถือว่าเป็นปรมาจารย์คนหนึ่งในสาขา กู่ฉิน

ลักษณะตัวกู่ฉินที่เข้าแบบจ้งหนีคือ คอเว้าคอดเข้าไปทีเดียวแล้วผายออก ส่วนด้านล่าง (ซึ่งต่อไปนี้เราจะเรียกว่าเอว) ตัดเข้าไปในลักษณะเหลี่ยมตามในภาพ

2.ทรงฝูซี (伏羲式)

ทรงฝูซี
ทรงฝูซี

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าฝูซี เป็นแบบที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากแบบจ้งหนี ชื่อของกู่ฉินแบบนี้ตั้งตามชื่อของเทพบรรพชนผู้ให้กำเนิดมนุษย์

ลักษณะตัวกู่ฉินที่เข้าแบบฝูซีคือ คอเว้าคอดเข้าไปทีเดียวแล้วผายออก เอวเว้าคอดสองขยักดังภาพ

3.ทรงเสินหนง (神农式)

ทรงเสินหนง
ทรงเสินหนง

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าเสินหนง ชื่อของมันตั้งตามเทพแห่งกสิกรรม (คนที่ชอบห่มใบไม้นั่นแหละ)

ลักษณะตัวกู่ฉินที่เข้าแบบเสินหนงคือ คอคอด เอวตอบเข้าไปทีเดียวแล้วไม่มีการผายออก

4.ทรงหลิงจี

ทรงหลิงจี
ทรงหลิงจี

 

 

 

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าหลิงจี แปลตามตัวว่าปัญญาไว ไม่ได้ตั้งชื่อตามใครทั้งนั้น

ลักษณะกู่ฉินที่เข้าแบบหลิงจีคือ คอคอดสองขยัก เอวคอดหนึ่งขยัก สวยงามมาก โดยส่วนตัวแล้วกู่ฉินรูปนี้เป็นลักษณะที่ผมชอบที่สุด

5.ทรงเลี่ยจื่อ (列子式)

ทรงเลี่ยจื่อ
ทรงเลี่ยจื่อ

 

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าเลี่ยจื่อ ชื่อของมันตั้งตามท่านเลี่ยจื่อนักปราชญ์จีนโบราณ

ลักษณะตัวกู่ฉินที่เข้าแบบเลี่ยจื่อคือ ทั้งคอและเอวตอบเข้าไปแบบตรงๆ นั่นคือเกือบคล้ายแบบจ้งหนีแต่คอไม่คอดเว้า เป็นแบบตรงๆ ไปเท่านั้น นอกจากนี้ส่วนอื่นแทนที่จะมนก็ตรงทื่อๆ ไปด้วย มีเหลี่ยมมาก

6.ทรงเหลียนจู (连珠式)

ทรงเหลียนจู
ทรงเหลียนจู

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าเหลียนจู แปลตามตัวว่ามุกราย

ลักษณะกู่ฉินที่เข้าแบบเหลียนจูคือ ทั้งคอและเอวคอดอย่างละสามขยักด้วยกัน

7.ทรงเฟิ่งซื่อ(凤势式

ทรงเฟิ่งซื่อ
ทรงเฟิ่งซื่อ

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าเฟิ่งสือ แปลตามตัวเดชหงส์

ลักษณะกู่ฉินที่เข้าแบบเฟิ่งสือคือ ทั้งคอและเอวคอดอย่างละสองขยัก

8.ทรงฉื่อจวิน (此君式)

ทรงฉื่อจวิน
ทรงฉื่อจวิน

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าเจียวเย่แปลตามตัวว่าลำไผ่ บางทีเรียกว่า ฉื่อจวิน

ลักษณะกู่ฉินที่เข้าแบบจู๋เจี๋ยคือ เต็มไปด้วยหยักเล็กผุดออกมาตลอดตัวคล้ายปล้องไผ่

9.ทรงลั่วเสีย (落霞式)

ทรงลั่วเสีย
ทรงลั่วเสีย

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าลั่วเสีย ความหมายของชื่อนั้นงามทีเดียว แปลว่าเมฆในยามอรุโณทัยอันถูกแสงแดดรุ่งอรุณส่องกระทบเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลือง กำลังห้อยย้อยลงจากฟากฟ้า (อย่าสงสัยว่าทำไมแปลได้ยาวขนาดนั้น เพราะอรรถรสของคำมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ)

10.ทรงเจิ้งเหอ(正合式)

ทรงเจิ้งเหอ
ทรงเจิ้งเหอ

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าเจิ้งเหอ ( แปลว่าแบบตรงดิ่ง (ไม่ใช่ชื่อเจิ้งเหอที่เป็นซำปอกง)

กู่ฉินแบบนี้ก็คือท่อนไม้ดีๆ นี่เอง ไม่มีการตกแต่งขอบใดๆ ทั้งสิ้น ทำแบบตรงๆ ซื่อๆ ไม่มีหยักมีเว้ามีนูนอะไรเลย สำคัญแต่บนกว้างล่างแคบเท่านั้น

11.ทรงซือคว่าง(师旷式)

ทรงซือคว่าง
ทรงซือคว่าง

 

 

 

 

 

กู่ฉินแบบนี้ชื่อว่าซือหราง ตั้งชื่อตามชื่อนักเล่นกู่ฉินคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงในยุคชุนชิว ซึ่งได้รับการยกย่องจากขงจื่อ

ลักษณะกู่ฉินที่เข้าแบบซือหรางจะต้องมีหัวกลมมนและโค้งขึ้นไปแบบซุ้ม ส่วนลำตัวเกือบตรงเหมือนกัน ที่เอวมีขยักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีกู่ฉินอีกหลายรูปแบบสุดแต่คนจะคิดขึ้นมา ซึ่งบางทีก็หาภาพไม่ได้ หรือหาได้ก็ไม่ดีพอ เช่นแบบลู่หวัง (ลู่อ๋อง) แบบเจียวเย่ (ใบกล้วย) แบบซือควาง แบบเฟิ่งเสอ (ลิ้นหงส์) แบบหลิงกวาน แบบเฮ่าจง และแบบอื่นๆ อีกมาก ที่เอามาให้ดูกันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

การขึ้นสายกู่ฉิน ให้ร้อยปลายสายด้านหนึ่งเข้ากับปลายพู่ จากนั้นขมวดปมที่ปลายสาย สอดสายกู่ฉินผ่านรูลูกบิดตั้งเสียง พาดผ่านลำตัวกู่ฉิน จากนั้น ดึงสายให้ตึง มัดส่วนปลายของสายไว้ที่เท้า ก็เสร็จสมบูรณ์ เวลาตั้งเสียงสูงต่ำ สามารถหมุนลูกบิด หากหมุนคลายออกเสียงจะต่ำลง ถ้าขันแน่นเข้าเสียงจะสูงขึ้น

แนะนำวิธีการดีดกู่ฉิน

กู่ฉินใช้การดีดประกอบกันสองมือ มือขวาดีดสายเสียง มือซ้ายกดหรือรีดสายเสียงให้สูงต่ำตามความต้องการ

เทคนิคพื้นฐานในการเล่นกู่ฉิน

มือขวา

เป็นมือที่ใช้ดีด คือมือที่ทำให้เกิดเสียงดัง

• ดีดสายเสียงโดยดีดเข้า นิ้วชี้ นิ้วกลาง จะดีดเข้าหาตัว ส่วนนิ้วหัวแม่มือดีดออก การดีดให้ตบนิ้วเข้าโดยแรง พักนิ้วไว้ที่สายต่อไป

• ดีดสายเสียงโดยดีดออก นิ้วชี้ นิ้วกลาง จะดีดออกจากตัว ส่วนนิ้วหัวแม่มือดีดเข้า การดีดด้วยนิ้วชี้ให้งอปลายนิ้วชี้แตะตรงข้อแกของหัวแม่มือ เป็นการพัก และดีดออกไปที่สายเสียงโดยแรง (ไม่ต้องพัก) การดีดนิ้วกลางทำคล้ายกันแต่ไม่ต้องพักนิ้วกลางไว้ที่ข้อแรกของหัวแม่มือ ส่วนที่จะโดนสายเสียงในการดีดแบบนี้คือ หลังเล็บ เสียงจะต่างกับการดีดเข้าที่ใช้ส่วนที่เป็นเนื้อดีด

• ดีดหลายสายพร้อมกัน ใช้ดีดสองสายพร้อมกันขึ้นไป เป็นการผสมนิ้วในรูปแบบต่างๆ เช่นนิ้วหัวแม่มือดีดเข้าพร้อมนิ้วกลาง นิ้วชี้ดีดออกนิ้วกลางดีดเข้า เป็นต้น

• ลากมือขวาติดต่อกันไปหลายๆ สาย ให้เกิดการไล่บันไดเสียง

มือซ้าย

เป็นมือที่ใช้กำหนดลักษณะของเสียงที่ออกมา

• พักไว้เฉยๆ ไม่มีผลต่อเสียง เสียงจะเป็นตามเสียงธรรมชาติของสายนั้นๆ ลักษณะเสียงจะหลวมมากและสั่นสะเทือนช้า

• ฟ่าน คือแตะสายเสียงเบาๆ โดยไม่กด ในขณะมือขวาดีด เสียงจะเกิดเพียงเล็กน้อยแล้วหยุด ลักษณะเป็นเสียงตอด เล็กๆ สั้นๆ และเสียงสูง

• อั้น คือกดสายเสียง การกดจะต้องใช้นิ้วกดให้แนบลงไปกับตัวแผ่นไม้ เสียงจะออกมาหนักแน่นและทรงพลัง แต่งเสียงสูงต่ำได้ตามต้องการ

• อั้นแล้วเลื่อนมือไปทางขวา เสียงที่ได้จะมีหางเสียงสูงขึ้นจากเดิม

• อั้นแล้วเลื่อนมือไปทางซ้าย เสียงที่ได้จะมีหางเสียงต่ำลงจากเดิม

• ขัดสายไปมา เสียงจะสูงๆ ต่ำๆ ตามที่มือขัด

• อั้นแบบเป็นจังหวะ โดยเลื่อนไปยังจุดใดจุดหนึ่งแล้วหยุด แล้วเลื่อนต่อ จะได้หางเสียงที่มีหลายระดับ

• รูดสายเสียงจากท้ายมาหัวอย่างรวดเร็ว เสียงที่ได้จะเสียดแทงมาก แต่ต้องระวังว่าถ้าใช้บ่อยจะทำให้เกิดความร้อนสูง สายเสียงอาจขาดง่าย และผิวหนังบริเวณจมูกนิ้วอาจฉีก สร้างความเจ็บแสบให้กับคนเล่นได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *