ราชวงศ์สุย

ราชวงศ์สุย

ราชวงศ์สุย
ราชวงศ์สุย

ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-617) ปลายราชวงศ์เหนือใต้ หลังจากได้ผ่านการแบ่งแยกและสู้รบกันมากว่า 270 ปี ราษฎรต่างก็มุ่งหวังการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งอีกครั้ง แต่ว่า ราชวงศ์เป่ยโจวทางเหนือและราชวงศ์เฉินทางตอนใต้ต่างไม่มีศักยภาพพอ ต่อเมื่อหยางเจียนเข้ายึดอำนาจทางการเมืองการปกครองของราชวงศ์เป่ยโจว สถาปนาราชวงศ์สุย ภารกิจการรวมแผ่นดินจึงตกเป็นของหยางเจียนหรือสุยเหวินตี้ และในปี ค.ศ. 589 ราชวงศ์สุยได้กำจัดแคว้เฉิน ซึ่งเป็นแคว้นสุดท้ายในสมัยหนันเป่ยเฉา และทำการรวมแผ่นดินได้สำเร็จ

หลังจากที่ราชวงศ์สุยสามารถรวบรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งได้อีกครั้ง บ้านเมืองก็สงบสุข และเนื่องจากมีการอพยพเข้ามายังดินแดนภาคกลางของกลุ่มชนเผ่าต่างๆ อาทิ ซงหนู เซียนเปย เชียง ตี เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปฏิรูปขนานใหญ่สู่ความเป็นฮั่นในสมัยวุ่ยเหนือ ในรัชกาลเสี้ยวเหวินตี้ ประกอบกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ภาษาและวิถีการดำรงชีวิตของทางเหนือและใต้ ในระยะเวลายาวนาน ทำให้สภาพสังคมทั่วไปได้รับการหลอมกลืนสู่ความเป็นฮั่น มีการผลัดอำนาจบ่อยครั้ง ความแปลกแยกระหว่างชนเผ่าเหนือใต้จึงเบาบางลงไปมาก อันเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุย ในสมัยจิ้นตะวันออกและราชวงศ์เหนือใต้ ราษฎรจากภาคเหนืออพยพลงสู่ใต้มากขึ้น เพิ่มสัดส่วนแรงงาน และเทคนิควิทยาการในการผลิตเข้ามาด้วย ทำให้เศรษฐกิจแดนเจียงหนัน (กังหนำ) พัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่เดิมการค้าระหว่างชนชาติทางภาคเหนือและใต้ยังถูกทางการควบคุมการไปมาหา สู่อย่างเข้มงวด แต่ในยุคราชวงศ์เหนือใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ทำลายข้อจำกัดนี้ไป ประกอบกับสภาพสงครามแย่งชิงได้ดำเนินมาเป็นเวลานาน จิตใจของทุกผู้คนต่างมุ่งหวังการรวมแผ่นดิน เพื่อให้เกิดสังคมที่สงบสุข

ในสมัยราชวงศ์สุย พื้นที่ในการทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สามารถผลิตข้าวสารได้ไม่น้อยกว่าหลายล้านถังต่อปี ในด้ารของเทคนิคการต่อเรืออยู่ในระดับที่สูงมาก สามารถสร้างเรือรบที่มีความสูงใหญ่ถึง 5 ชั้น การค้าขายในเมืองลั่วหยางก็เจริญรุ่งเรืองเป็นพิเศษ พระเจ้าสุยเหวินตี้ ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยยุบรวมเขตปกครองในท้องถิ่น ลดขนาดองค์กรบริหาร รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฮ่องเต้กุมอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางทหาร การปกครองและเศรษฐกิจ โดยมีขุนนางเป็นเพียงผู้ช่วยในการบริหาร ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการแก่งแย่งอำนาจและเป็นการลิดรอนอำนาจในส่วนท้องถิ่น อันเป็นสาเหตุของการแตกแยกที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นยังได้ริเริ่มระบบการสอบรับราชการขุนนางขึ้น (หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ สอบจอหงวน ‘) เพื่อคัดเลือกบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน และได้ช่วยให้เกิดเสถียรภาพในระบบรวมศูนย์อำนาจเป็นอย่างดี

สุยเหวินตี้ทรงนับถือพุทธศาสนา โปรดการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายประหยัด ตลอดรัชสมัยมีฮองเฮาเพียงพระองค์เดียว ขณะที่รัชทายาทหยางหย่งกลับเลี้ยงดูสนม นางระบำไว้มากมาย ปี ค.ศ. 600 สุยเหวินตี้ ทรงปลดรัชทายาทหยางหย่ง แต่งตั้งราชโอรสองค์รองหยางกว่าง ขึ้นแทน หยางกว่างร่วมมือกับอวี้เหวินซู่และหยางซู่ วางแผนแย่งชิงบัลลังก์ ปี 604 สุยเหวินตี้ สิ้นพระชนม์กระทันหัน หยางกว่างสืบราชบัลลังก์ต่อมา มีพระนามว่า สุยหยางตี้

หยางกว่างเมื่อขึ้นครองราชย์ก็ลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เกณฑ์แรงงานชาวบ้านกว่าสองล้านคนสร้างนครหลวงตะวันออกแห่งใหม่ที่ลั่วหยาง สร้างพระราชวังที่งดงามหรูหรา และอุทยานตะวันตกที่มีอาณาบริเวณกว่า 100 กิโลเมตร ซ่อมสร้างกำแพงหมื่นลี้ ยกทัพบุกเกาหลีถึงสามครั้ง ผู้คนล้มตายนับไม่ถ้วน นอกจากนี้ ยังขุดคลองต้าอวิ้นเหอ เพื่อการท่องเที่ยวแดนเจียงหนัน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ชาวบ้านอดอยากได้ยาก มีประชาชนที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารและแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนจรหมอนหมิ่น ไร้ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตรถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า จนเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก

ปี 611 หยางกว่างเร่งระดมกำลังพลทางภาคอีสานเพื่อบุกเกาหลี สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่ลำบากยากแค้นอยู่แต่เดิม เป็นเหตุให้เกิดการลุกฮือขึ้นของกบฎชาวนา นำโดยหวังป๋อ จากนั้นก็มีกบฏชาวนาจากท้องที่ต่างๆ พากันลุกฮือขึ้นไม่ขาดสาย ปี 613 ขณะที่สุยหยางตี้ยกทัพบุกเกาหลีครั้งที่ 2 หยางเสวียนกั่นที่เป็นบุตรหลานตระกูลใหญ่ซ่องสุมกำลังพลคิดล้มล้างราชวงศ์สุ ย โดยมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อสุยหยางตี้ทราบข่าว ก็รีบถอยทัพกลับทันที การปราบปรามครั้งนี้มีผู้คนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก

กบฏชาวนาที่ลุกฮือขึ้นปะทะกับทหารสุย บ้างแตกพ่าย บ้างรวมกลุ่มกัน กลุ่มก้อนที่เข้มแข็งมี 3 กลุ่ม ได้แก่ กองกำลังหวากั่ง ในเหอหนัน(ภาคกลาง) นำโดยไจ๋ยั่ง และหลี่มี่ ภาคเหนือมีกองกำลังเหอเป่ย นำโดยโต้วเจี้ยนเต๋อ และภาคใต้มีกองกำลังเจียงหวย ที่นำโดยตู้ฝูเวย

ก่อนการล่มสลายของราชวงศ์สุย บรรดาข้าราชสำนักต่างทยอยติดอาวุธขึ้นตั้งตนเป็นใหญ่ ที่สำคัญได้แก่ หลัวอี้ ตั้งฐานที่มั่นในจั๋วจวิน (ปักกิ่งในปัจจุบัน) เหลียงซือตู สถาปนาแคว้นเหลียงที่ซั่วฟาง(มองโกเลียใน) หลิวอู่โจว ที่หม่าอี้(มณฑลซันซี) เซียว์จี่ว์ ที่จินเฉิง (หลันโจวมณฑลกันซู่) หลีกุ่ย สถาปนาแคว้นต้าเหลียงที่อู่เวย หลี่ยวน สถาปนาราชวงศ์ถังที่กวนจง เซียวเสี่ยน ตั้งตนเป็นเหลียงตี้ที่ปาหลิง(เมืองเยว่หยางมณฑลหูหนัน) เสินฝ่าซิง ตั้งตนเป็นเหลียงหวังที่เมืองอู๋ซิ่ง เป็นต้น ต่างฝ่ายเข้าร่วมในการช่วงชิงแผ่นดิน โดยถือเอากองกำลังที่ลุกฮือขึ้นเป็นกบฏที่ต้องปราบปราม

กองกำลังหวากั่ง

ในปี 611 ไจ๋ยั่งนำกำลังลุกฮือขึ้นก่อการที่หวากั่งไจ(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนัน) จากนั้นผู้มีความสามารถจากซันตงและเหอหนันต่างพากันเดินทางมาเข้าร่วมด้วย ที่สำคัญคือ หลี่มี่ ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทในกองกำลังหวากั่งอย่างสูง ในปี 617 กองกำลังหวากั่งเข้าประชิดลั่วหยาง บุกปล้นคลังเสบียงรอบข้าง นำออกแจกจ่ายราษฎร ทำให้มีคนมาเข้าร่วมด้วยมากขึ้น กลายเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในเหอหนัน ขณะเดียวกันรากฐานภายใน กลับเกิดการแตกแยกขึ้น หลี่มี่ที่เดิมถือกำเนิดจากครอบครัวขุนนางชั้นสูง หลังจากกบฏหยางเสียนกั่นประสบความล้มเหลว ก็เข้าร่วมกับกองกำลังหวากั่ง ซ่องสุมกองกำลังฝ่ายตนขึ้น จากนั้นแย่งชิงตำแหน่งผู้นำ มาเป็นเหตุให้กองกำลังหวากั่งอ่อนแอลง เมื่อถึงปี 618 สุยหยางตี้สิ้นพระชนม์ที่เจียงตู หลี่มี่นำกำลังสวามิภักดิ์หยางต้งจากราชสำนักสุย หยางต้งมอบหมายให้หลี่มี่นำกำลังปราบอวี้เหวินฮั่วจี๋ แม้จะได้ชัยชนะแต่กองกำลังหลี่มี่ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนัก แต่แล้วถูกกองทัพของหวังซื่อชงตลบหลังโจมตีซ้ำจนแตกพ่ายไป หลี่มี่หลบหนีไปสวามิภักดิ์กับหลี่หยวน ที่สถาปนาราชวงศ์ถังในแดนไท่หยวน สุดท้ายคิดลุกฮือขึ้นก่อการทางทหารแต่ไม่สำเร็จถูกสังหารไป

กองกำลังเหอเป่ย

นำโดยโต้วเจี้ยนเต๋อ แต่เดิมเข้าร่วมก่อการในกลุ่มของเกาซื่อต๋า ในปี 611 ภายหลังเมื่อเกาซื่อต๋าเสียชีวิตในการสู้รบ โต้วเจี้ยนเต๋อจึงกลายเป็นผู้นำต่อมา ในปี 617 โจมตีทัพสุยแตกพ่าย สร้างเกียรติภูมิในการรบครั้งใหญ่ ตั้งตัวเป็นฉางเล่อหวัง ครองดินแดนเหอเป่ยทางภาคเหนือ มีผู้มาเข้าร่วมแสนกว่าคน ต่อมาในปี 618 ราชวงศ์สุยล่มสลาย จึงสถาปนาแคว้นเซี่ย ตั้งตนเป็นเซี่ยหวัง เมืองหลวงอยู่ที่หมิงโจว (อำเภอหย่งผิงในมณฑลเหอเป่ย) จวบจนปี 621 พ่ายแพ้ให้กับหลี่ซื่อหมิน ถูกจับเป็นตัวประกัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ปีถัดมา หลี่ซื่อหมินยกทัพปราบหลิวเฮยท่าขุนพลเอกของโต้วเจี้ยนเต๋อและกองกำลังที่ เหลือจนสิ้น

กองกำลังเจียงหวย

ปี 613 ตู้ฝูเวย และ ฝู่กงซือ เริ่มก่อการในแถบซันตง จากนั้นเคลื่อนกองกำลังลงใต้ ครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำหวยเหอ ทางตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 617 ราชสำนักสุยได้ส่งกำลังมาปราบ แต่ถูกตีโต้กลับไป เมื่อสุยหยางตี้สิ้น ตู้ฝูเวยยอมโอนอ่อนต่อหยางต้งเชื้อพระวงศ์ในลั่วหยาง ได้รับการอวยยศ ต่อมาเมื่อราชวงศ์ถังเข้มแข็งขึ้น ก็สวามิภักดิ์ต่อหลี่ยวนที่ฉางอันในปี 622 ปีถัดมา ฝู่กงซือลุกฮือขึ้นต่อกรราชวงศ์ถัง โดยยึดครองพื้นที่ละแวกมณฑลเจียงซูและอันฮุยไว้ได้ แต่สุดท้ายพ่ายแพ้ในปี 624

การสิ้นสุดของราชวงศ์สุย

ปี 617 กองกำลังหวากั่งเข้าประชิดนครหลวงตะวันออกลั่วหยาง ขณะนั้น สุยหยางตี้เสด็จประพาสเจียงหนัน เหลือเพียงกองกำลังของหยางต้ง ที่เป็นเชื้อพระวงศ์เฝ้าเมืองลั่วหยางไว้ สุยหยางตี้เรียกระดมพลของหวังซื่อชง ซึ่งประจำอยู่ที่เจียงตู มาช่วยรักษาเมืองลั่วหยางโดยรอบ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับกองกำลังหวากั่ง ราชสำนักสุยถูกเหล่ากองกำลังที่ลุกฮือขึ้นบุกโจมตีจนสูญเสียพื้นที่โดยรอบไป หลี่ยวนที่เฝ้ารักษาเมืองไท่หยวนในซันซีก็ฉวยโอกาสรุกเข้าฉางอัน ตั้งตนเป็นใหญ่ที่แดนไท่หยวน

ระหว่างนั้น อวี่เหวินฮั่วจี๋ สมคบกับซือหม่าเต๋อคัน แม่ทัพกองกำลังรักษาพระองค์และทหารองครักษ์ลุกฮือขึ้นก่อการที่เมืองเจียง ตู(เมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู) สังหารสุยหยางตี้ ในปี 618 หลี่ยวนเมื่อทราบข่าวก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ สถาปนาราชวงศ์ถัง บรรดานายทัพที่คุมกองกำลังต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระ แม้ว่าหวังซื่อชงจะยอมยกให้หยางต้งในลั่วหยางขึ้นเป็นฮ่องเต้ แต่ในเวลาไม่นานก็ใช้กำลังบุกเข้าลั่วหยางยึดเป็นฐานที่มั่นของตน แผ่นดินกลายเป็นสนามรบของการช่วงชิงอำนาจอีกครั้ง จากนั้น กลุ่มกบฏชาวนาและกองกำลังที่ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นต่างทยอยถูกกองทัพราชวงศ์ถัง กำจัดกวาดล้างไป ราชวงศ์ถังจึงสืบทอดการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุยต่อมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *