ศิลปะการเขียนอักษรจีน (3) อักษรสิง เป็นอักษรที่ถูกเขียนมากที่สุด ไม่ว่าผู้ใดก็จะใช้อักษรสิงในการเขียนแบบปรกติ (คือไม่เป็นทางการ) เพราะมันอ่านไม่ยากและเขียนได้เร็ว ทั้งยังสวยงามอีกด้วย อักษรสิงก็คือการเขียนอักษรแบบกึ่งหวัด นั่นคือมีการเชื่อมเส้น ยกพู่กันน้อยลง ตวัดมากขึ้น
ลักษณะโดยรวมของอักษรสิงคือ
• รูปทรงเล็กก็ได้ใหญ่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของวิธีเขียนอักษรตัวนั้นๆ เช่นอักษร อาจมีความสูงเป็นพิเศษ อักษร มักเขียนตัวเล็กกว่าตัวอื่น เป็นต้น
• มีการเชื่อมเส้น มีการต่อจุด
• มีการแปลงรูปบางส่วนให้เขียนได้เร็ว
• มีน้ำหนักที่แตกต่างกัน ไม่เสมอกัน ไม่ตายตัว ที่หนักก็หนักมาก ที่เบาก็เบามาก
• มีพลัง มีการตวัด
• มีเค้าโครงอักษรอยู่ระหว่างกลางแบบบรรจงกับแบบหวัด อ่านไม่ยากจนเกินไป
พูดถึงอักษรชนิดนี้มีพิสัยความแตกต่างที่กว้างขวางมาก แบ่งออกได้เป็นสามพวกคือ
๔.๑. สิงซู อักษรสิงแท้ที่อยู่ระหว่างกลาง มีการเชื่อมเส้นทุกเส้นต่อจุดทุกจุด ลักษณะมนไม่แข็งกระด้าง เห็นทิศทางการเคลื่อนไหวพู่กันที่ชัดเจน
๔.๒. สิงไข่ อักษรบรรจงที่ลดความประณีตลงบ้าง มีการเชื่อมบางเส้นและต่อบางจุด บางเส้นยังคงมีการเขียนแบบบรรจง มีหน้าตาใกล้เคียงกับอักษรบรรจง
๔.๓. สิงเฉ่า อักษรแกมหวัด และหวัดมากกว่าบรรจง แต่ยังคงใช้กลวิธีในการเขียนอักษรสิง (เพราะอักษรหวัดมีแบบแผนของมัน ซึ่งผู้ไม่ได้เรียนก็จะอ่านไม่ออก) ทำให้แยกอักษรได้ง่ายกว่าบ้าง ถึงกระนั้นก็มีความหวัดมากพอควร
การแบ่งประเภทก็ใช้ความหวัดเป็นแบบแผนนั่นเอง หวัดมากหรือหวัดน้อย ขอให้ไม่ถึงกับบรรจงแท้ หรือ หวัดแท้ๆ ก็เป็นอักษรสิงหมด แม้ว่าลีลาที่เขียนจะต่างกันอย่างไรก็ตาม
ภาพอักษรสิงที่เอามาฝากนั้นเป็นผลงานของหวางซีจือ นักเขียนอักษรมืออันดับต้นๆ ของประเทศจีน
อักษรเฉ่า อักษรหวัดสำหรับผู้ฝึกเขียนพู่กันแล้วมันเป็นแบบที่ฝึกยากที่สุดและต้องใช้ ประสบการณ์สูง อักษรหวัดมีแบบแผนในการลดทอนและการเชื่อมเส้นอย่างเป็นมาตรฐาน ซึ่งทำให้การเขียนอักษรตัวหนึ่งใช้การขีดเพียงไม่กี่ขีด โดยส่วนใหญ่ส่วนประกอบหนึ่งจะใช้เส้นเดียวไม่ว่าเดิมจะมีกี่เส้น และการออกแบบเส้นขีดนั้นก็เพื่ออำนวยต่อการเชื่อมตัวอักษรจึงสามารถเขียนต่อ กันได้ยาวๆ ไม่ขาดสาย
ลักษณะโดยรวมของอักษรเฉ่าคือ
• มีเส้นน้อย และต่อเนื่องกันตลอด
• โดยปกติจะเป็นเส้นโค้งทั้งหมด
• มีการเชื่อมอักษรหลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน
• ความใหญ่เล็กของอักษรไม่มีกำหนดแน่นอน ในงานชิ้นเดียวกัน อักษรตัวหนึ่งอาจจะยาวหนึ่งฟุต อีกตัวอาจจะสูงแค่หนึ่งเซนติเมตร
• รูปทรงบอกไม่ได้ว่าเป็นรูปร่างอะไร
• มีลีลาเหมือนงูหรือมังกรที่คดเคี้ยว
• มีความหนักเบาแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
• ข้อสำคัญที่สุด อ่านยาก
การเขียนอักษรเฉ่าต้องพ้นจากการยึดกุม นั่นคือการถือพู่กันก็ต้องหลวมๆ ปล่อยๆ และถือส่วนที่สูงที่สุดของด้าม เพื่อให้ปลายแกว่งได้มาก ใช้ทั้งข้อมือและข้อศอกได้ตามปรารถนา ต้องไม่ยึดน้ำหนักเดิมและขนาดอักษรเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อักษรเดียวกันที่ปรากฏคนละตำแหน่งควรเขียนให้ขนาดหรือน้ำหนักต่างกัน การให้น้ำหนักอักษรเฉ่าสามารถทำให้แตกต่างกันได้อย่างมากที่สุด เมื่อน้ำหนักเบาก็แตะปลายแผ่วๆ เพียงสัมผัสกระดาษ เมื่อหนักก็สามารถขยี้ปลายพู่กันให้แหลกลงไปข้างหน้า