ซุนวูยอดนักการทหารแห่งโจวตะวันออก

ราชวงศ์โจวตะงันออก

ซุนวูยอดนักการทหารแห่งโจวตะวันออก
ซุนวูยอดนักการทหารแห่งโจวตะวันออก

ราชวงศ์โจวตะงันออก (771 -221 ก่อนคริสตกาล) หลังจากที่ราชวงศ์โจวตะวันตกล่มสลาย พระเจ้าโจวผิงหวังเป็นโอรสของพระเจ้าโจวโยวหวัง ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โจวตะวันตกได้ขึ้นครองราชย์บัลลังก์ และได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองซีอัน มาที่เมืองลั่วหยาง ในประวัติศาสตร์จีนจึงเรียกราชวงศ์นี้ว่าราชวงศ์โจวตะวันออก

ถ้าหากลองสังเกตประวัติศาสตร์จีน จะพบว่าชื่อของราชวงศ์ต่างๆ มักจะมีคำบอกทิศทาง อย่างเช่น ราชวงศ์โจวตะวันออกและราชวงศ์โจวตะวันตก ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ราชวงศ์ซ่งเหนือ และราชวงศ์ซ่งใต้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลังจากที่สงครามผ่านไป ราชวงศ์เก่าล่มสลายไป แต่กษัตริย์ที่ครองราชย์บัลลังก์ สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เดิม แต่ได้ทำการย้ายเมืองหลวงเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักประวัติศาสตร์จึงเพิ่มคำบ่งบอกทิศทางเข้าไปในชื่อของราชวงศ์ โดยพิจารณาจากที่ตั้งของเมืองหลวง อาทิเช่น ราชวงศ์โจวเดิมตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองซีอันซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก จึงเรียกราชวงศ์นี้ว่าราชวงศ์โจวตะวันตก ต่อมาได้มีการย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองลั่วหยาง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองซีอัน จึงเรียกราชวงศ์นี้ว่าราชวงศ์โจวตะวันออก

สมัยชุนชิว และ สมัยจ้านกั๋ว (จั้นกว๋อ) (770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ราชวงศ์โจวตะวันออกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเรียกว่า สมัยชุนชิว เมื่อโจวผิงหวัง ย้ายเมืองหลวง ราชสำนักโจวก็อ่อนแอลง จึงไม่มีอำนาจปกครองเหนือเหล่าแว่นแคว้นต่าง ๆอีก ทำให้เกิดเป็นสภาวะสุญญากาศทางการเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้

ขณะเดียวกัน ชนเผ่าหมาน อี๋ และหรงตี๋ ที่อยู่รอบนอกตามตะเข็บชายแดน ซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากแผ่นดินจงหยวน(ดินแดนแถบที่ราบภาคกลางของ จีน) อีกทั้งมีการผสมผสานระหว่างชนเผ่า ทำให้ชุมชนเหล่านี้เจริญก้าวหน้าตามติดมาอย่างกระชั้นชิด ในขณะที่แว่นแคว้นต่าง ๆ ในแถบจงหยวนมีเงื่อนไขของความเจริญรุดหน้าที่ไม่ทัดเทียมกัน มีบ้างเข้มแข็ง บ้างอ่อนแอ ดังนั้น ทั่วทั้งภูมิภาคจึงเกิดการจับขั้วของอำนาจระหว่างแคว้น มีทั้งความร่วมมือและแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ ดังนั้น ในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกจึงเป็นยุคที่มีความพลิกผันทางการเมืองอย่างสูง แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งของการรวมประเทศจีนในอนาคต

ดังนั้นเขตแคว้นทั้งหลายต่างแสวงหาผู้มีความรู้ความสามารถมาช่วยพัฒนาเพื่อ ให้เมืองของตนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นในช่วงนี้ประเทศจีนจึงเกิดนักคิดเป็นจำนวนมาก พวกเค้าได้สร้างแนวคิด และทฤษฏีต่างๆ ไว้มากมาย เช่น ลัทธิหลูของขงจื่อ (ขงจื๊อ) ลัทธิเต๋าของเหล่าจื่อ (เล่าจื๊อ) และลัทธิกฎหมายของหันเฟยจื่อ เป็นต้น ในประวัติศาสตร์เรียกว่า ไป่เจียเจิงหมิง (ปรัชญาร้อยสำนัก)

เมื่อมีการย้ายนครหลวงไปยังตะวันออก ดินแดนฝั่งตะวันตกก็กลายเป็นแคว้นฉิน ครอบคลุมเขตแดนของชนเผ่าหรง และดินแดนโดยรอบ กลายเป็นแคว้นที่เข้มแข็งทางตะวันตก สำหรับแคว้นจิ้น ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซานซี ส่วนแคว้นฉี และหลู่ อยู่ในมณฑลซานตง แคว้นฉู่ อยู่ในมณฑลหูเป่ย สำหรับปักกิ่งและดินแดนทางตอนเหนือของมณฑลเหอเป่ยในปัจจุบันเป็นแคว้นเอี้ยน นอกจากนี้ทางตอนใต้ของลำน้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียงก่อเกิดเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆมากมาย อาทิ แคว้นอู๋ แคว้นเยว่ เป็นต้น ล้วนเกิดจากการรวบรวมแว่นแคว้นเล็กที่อยู่โดยรอบเขตแดนของตน จนกระทั่งมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นเองประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงกลายสมรภูมิเลือดแห่งการแย่งชิงอำนาจของเจ้าแคว้นเหล่านี้

การแย่งชิงอำนาจเพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้นำที่ครองอำนาจเด็ดขาดในจงหยวนนั้น เริ่มต้นจาก ฉีหวนกง เจ้าแคว้นฉีมอบหมายให้เสนาบดีก่วนจ้ง แก้ไขปรับปรุงระบบการปกครองภายใน ทำให้แคว้นฉีเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งยังดำเนินกุศโลบายเรียกร้องให้ ‘ พิทักษ์โจว ปราบอี๋ ‘ นั่นคือพิทักษ์ราชสำนักโจวและร่วมมือปราบปรามชนเผ่านอกจงหยวน อาทิเช่น ร่วมมือกับแคว้นเอี้ยนปราบชนเผ่าหรง หรือร่วมมือกับแคว้นต่าง ๆหยุดยั้งการรุกรานของชนเผ่าตี๋ เป็นต้น

เมื่อแคว้นฉีเป็นใหญ่ในดินแดนจงหยวน แคว้นฉู่ซึ่งจึงได้แต่ขยายอำนาจลงไปทางตอนใต้ เมื่อสิ้นฉีหวนกงแล้ว แคว้นฉีเกิดการแย่งชิงอำนาจภายใน เป็นเหตุให้อ่อนแอลง แคว้นฉู่จึงได้โอกาสขยับขยายขึ้นเหนือมาอีกครั้ง ซ่งเซียงกง เจ้าแคว้นซ่งคิดจะสืบทอดตำแหน่งผู้นำจงหยวนแทนฉีหวนกง จึงเข้าต่อกรกับแคว้นฉู่ สุดท้ายแม้แต่ชีวิตก็ต้องสูญสิ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ แคว้นพันธมิตรที่เคยอยู่ภายใต้การนำของแคว้นฉี อาทิ แคว้นหลู่ ซ่ง เจิ้ง เฉิน ไช่ สวี่ เฉา เว่ย เป็นต้น ต่างก็พากันหันมาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแคว้นฉู่ แทน

ในขณะที่แคว้นฉู่คิดจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำจงหยวนนั้นเอง แคว้นจิ้น ก็เข้มแข็งขึ้นมา จิ้นเหวินกง หลังจากที่ระหกระเหินลี้ภัยการเมืองไปยังแคว้นต่าง ๆนั้น เมื่อได้กลับสู่แว่นแคว้นของตน ก็ทำการปรับการปกครองภายในครั้งใหญ่ เพิ่มความเข้มแข็งทางการทหาร อีกทั้งยังคิดแย่งชิงตำแหน่งผู้นำจงหยวน

ในช่วงเวลาแห่งการแย่งตำแหน่งผู้นำจงหยวนระหว่างแคว้นจิ้นและฉู่นั้นเอง แคว้นฉี และฉิน ได้กลายเป็นขั้วมหาอำนาจทางทิศตะวันออกและตะวันตกไป ในช่วงปลายยุคชุนชิว แคว้นฉู่ร่วมมือกับฉิน แคว้นจิ้นจับมือกับฉี สองฝ่ายต่างมีกำลังที่ทัดเทียมกัน ทว่า สภาวะแห่งการแก่งแย่งตำแหน่งผู้นำจงหยวนกลับทวีความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ของแต่ละแคว้นมากขึ้น ดังนั้น จึงถึงจุดสิ้นสุดของยุคผู้นำที่ ‘ ชูธงนำทัพ ‘ ออกปราบปรามบรรดาชนเผ่าภายนอก เมื่อถึงปีก่อนคริสตศักราช 579 แคว้นซ่งทำสัญญาพันธมิตรกับแคว้นจิ้นและฉู่ว่าต่างฝ่ายจะไม่โจมตีกัน มีการส่งทูตเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน จะให้ความช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และจะเข้าร่วมรบต้านทานศัตรูจากภายนอก

ในยุคชุนชิว (ปี 770-476 ก่อนคริสตศักราช) นี้ ความร่วมมือและสู้รบของแคว้นต่าง ๆ นอกจากเป็นการกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของแว่นแคว้นและดินแดน ต่าง ๆแล้ว ยังมีส่วนช่วยเร่งเร้าการหลอมรวมเผ่าพันธุ์ระหว่างชนเผ่าให้เป็นหนึ่งเดียว อีกด้วย หลังจากผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โยกย้ายผลัดเปลี่ยนฝักฝ่ายแล้ว บรรดาเจ้าแคว้นขนาดเล็กก็ทยอยถูกกลืนโดย 7 นครรัฐใหญ่ และแคว้นรอบข้างอีกสิบกว่าแคว้น

*ยุคชุนชิว ในภาษาจีนหมายถึงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เป็นการสื่อถึงสภาพความเป็นไปในยุคชุนชิวว่าเหมือนดั่งฤดูกาลแห่งความ เปลี่ยนแปลงที่พลิกผันไม่แน่นอน

สมัยจ้านกั๋ว (จั่น/จั้นกว๋อ ) เมื่อเข้าสู่ยุคจั้นกว๋อ หรือยุคสงคราม (ปี 475-221 ก่อนคริสตศักราช) จึงมีสภาพโดยรวมดังนี้ นครรัฐฉู่ คุมทางตอนใต้ นครรัฐเจ้า คุมทางเหนือ นครรัฐเอี้ยน คุมตะวันออกเฉียงเหนือ นครรัฐฉี คุมตะวันออก นครรัฐฉิน คุมตะวันตก โดยมีนครรัฐหาน นครรัฐวุ่ย อยู่ตอนกลาง ซึ่งในบรรดานครรัฐทั้ง 7 นี้ มี 3 นครรัฐใหญ่ที่ครอบคลุมดินแดนลุ่มน้ำหวงเหอหรือฮวงโหจากทิศตะวันตกสู่ตะวัน ออกอันได้แก่นครรัฐฉิน วุ่ยและฉี ซึ่งมีกำลังอำนาจยิ่งใหญ่ทัดเทียมกัน

นับจากวุ่ยเหวินโหว เจ้านครรัฐวุ่ยขึ้นสู่อำนาจในช่วงก่อนคริสตศักราช 400 ซึ่งอยู่ในยุคปลายชุนชิวเป็นต้นมา ก็ได้นำพาให้นครรัฐวุ่ยก้าวขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจในแผ่นดินจงหยวน เมื่อนครรัฐวุ่ยเข้มแข็งขึ้น เป็นเหตุให้นครรัฐหาน เจ้า และฉินต่างหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันไม่หยุดหย่อน

ในช่วงก่อนคริสตศักราช 354 นั้นเอง นครรัฐเจ้า โจมตีแคว้นเว่ย นครรัฐวุ่ยเห็นว่าแคว้นเว่ยเป็นแคว้นในปกครองของตน จึงนำทัพบุกนครหานตาน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของนครรัฐเจ้า นครรัฐเจ้าหันไปขอความช่วยเหลือจากนครรัฐฉี นครรัฐฉีจึงส่งแม่ทัพเถียนจี้ ไปช่วยนครรัฐเจ้า เถียนจี้ใช้กลศึกของซุนปิน เข้าปิดล้อมนครต้าเหลียง เมืองหลวงของวุ่ย เวลานั้นถึงแม้ว่ากองทหารของวุ่ยจะสามารถเข้าสู่นครหานตานได้แล้ว ทว่ากลับจำต้องถอนกำลังเพื่อย้อนกลับไปกอบกู้สถานการณ์ของรัฐตน สุดท้ายเสียทีทัพฉีที่กุ้ยหลิง ถูกตีแตกพ่ายกลับไป และในปีถัดมา นครรัฐวุ่ยและหานก็ร่วมมือกันโจมตีทัพฉีแตกพ่าย เมื่อถึงปี 342 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐวุ่ยโจมตีนครรัฐหาน นครรัฐหานขอความช่วยเหลือจากนครรัฐฉี นครรัฐฉีจึงมอบหมายให้แม่ทัพเถียนจี้ออกศึกอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีซุนปินเป็นที่ปรึกษาในกองทัพ วางแผนหลอกล่อให้ทัพวุ่ยเข้าสู่กับดักที่หม่าหลิง ที่ซึ่งธนูนับหมื่นของทัพฉีเฝ้ารออยู่ ความพ่ายแพ้คราวนี้ผังเจวียน แม่ทัพใหญ่ของนครรัฐวุ่ยถึงกับฆ่าตัวตาย รัชทายาทของนครรัฐวุ่ยถูกจับเป็นเชลย ‘ การศึกที่หม่าหลิง ‘ จึงนับเป็นการศึกครั้งสำคัญในยุคจั้นกว๋อ เนื่องจากได้สร้างดุลอำนาจทางตะวันออกระหว่างนครรัฐฉีและนครรัฐวุ่ยให้มี กำลังทัดเทียมกัน

ส่วนนครรัฐฉิน ภายหลังการปฏิรูปของซางเอียง โดยหันมาใช้กฎหมายในการปกครองแล้ว สามารถก้าวกระโดดขึ้นสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดา 7 นครรัฐ ดังนั้นจึงเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลสู่ตะวันออก เริ่มจากปราบซันจิ้น** (ได้แก่นครรัฐหาน เจ้าและวุ่ย) โดยเข้ายึดดินแดนฝั่งตะวันตกของนครรัฐวุ่ย จากนั้นขยายออกไปยังทิศตะวันตก ทิศใต้และเหนือ เมื่อถึงปลายปี 400 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉินก็มีดินแดนกว้างใหญ่ใกล้เคียงกับนครรัฐฉู่

ในขณะที่นครรัฐฉินเข้าโรมรันพันตูกับซันจิ้นนั้น นครรัฐฉีก็แผ่ขยายอำนาจออกไปทางตะวันออก ในปี 315 ก่อนคริสตศักราช เจ้านครรัฐเอี้ยนสละบัลลังก์ให้แก่เสนาบดีจื่อจือ เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายภายใน นครรัฐฉีจึงฉวยโอกาสนี้บุกโจมตีนครรัฐเอี้ยน แต่สุดท้ายประชาชนนครรัฐเอี้ยนลุกฮือขึ้นก่อหวอด เป็นเหตุให้กองทัพฉีต้องล่าถอยจากมา ขณะเดียวกัน รัฐที่สามารถต่อกรกับนครรัฐฉินได้มีเพียงนครรัฐฉีเท่า กลยุทธชิงอำนาจใหญ่ที่สำคัญในขณะนั้นคือ ฉินและฉี ต้องหาทางให้นครรัฐฉู่มาเสริมพลังของตนให้ได้

การปฏิรูปทางการเมืองของนครรัฐฉู่ล้มเหลว เป็นเหตุให้รัฐอ่อนแอลง แต่ก็ยังมีดินกว้างใหญ่ไพศาล อีกทั้งประชากรจำนวนมากเป็นกำลังหนุน นครรัฐฉู่ร่วมมือกับนครรัฐฉีต่อต้านฉิน ส่งผลกระทบต่อการขยายดินแดนของนครรัฐฉิน ดังนั้นเอง นครรัฐฉินจึงส่งจางอี้ ไปเป็นทูตสันถวไมตรีกับนครรัฐฉู่ ชักชวนให้ฉู่ละทิ้งฉีเพื่อหันมาร่วมมือกับนครรัฐฉิน โดยฉินจะยกดินแดนซาง กว่า 600 ลี้ให้เป็นการแลกเปลี่ยน ฉู่หวยหวัง เจ้านครรัฐฉู่ละโมบโลภมากจึงแตกหักกับนครรัฐฉี ต่อเมื่อเจ้านครรัฐฉู่ส่งคนไปขอรับที่ดินดังกล่าว นครรัฐฉินกลับปฏิเสธไม่รับรู้เรื่องราว ฉู่หวยหวังโมโหโกรธา จึงจัดทัพเข้าโจมตีนครรัฐฉิน แต่กลับเป็นฝ่ายแพ้พ่ายกลับมา นครรัฐฉู่เมื่อถูกโดดเดี่ยวและอ่อนแอ นครรัฐฉินจึงบุกเข้ายึดดินแดนจงหยวนได้อย่างวางใจ โดยเริ่มจาก นครรัฐหาน และวุ่ย จากนั้นเป็นนครรัฐฉี

เมื่อถึงปี 286 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉีล้มล้างแคว้นซ่ง เป็นเหตุให้แคว้นใกล้เคียงหวาดระแวง นครรัฐฉินจึงนัดหมายให้นครรัฐหาน เจ้า วุ่ยและเอี้ยนโจมตีนครรัฐฉีจนแตกพ่าย นครรัฐเอี้ยนที่นำทัพโดยแม่ทัพเล่ออี้ ฉวยโอกาสบุกนครหลินจือ เมืองหลวงของนครรัฐฉีและเข้ายึดเมืองรอบข้างอีก 70 กว่าแห่ง ฉีหมิ่นหวัง เจ้านครรัฐฉีหลบหนีออกนอกรัฐ สุดท้ายถูกนครรัฐฉู่ไล่ล่าสังหาร นครรัฐฉีที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรต้องจบสิ้นลงในลักษณะนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ นครรัฐฉินจึงได้โอกาสแผ่อิทธิพลเข้าสู่ภาคตะวันออก

ในปี 246 ก่อนคริสตศักราช ฉินหวังเจิ้ง (หรือต่อมาคือฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีน) ได้สืบราชบัลลังก์นครรัฐฉินต่อมา โดยมีที่ปรึกษาเช่นเว่ยเหลียว หลี่ซือ เป็นต้น ช่วยเหลือในการถากถางเส้นทางในการรวบรวมแผ่นดิน บ้างใช้เงินทองล่อซื้อบรรดาขุนนางของ 6 นครรัฐ แทรกซึมเข้าไปก่อความวุ่นวายในการปกครองของนครรัฐทั้ง 6 อีกทั้งส่งกองกำลังรุกเข้าประชิดดินแดนปีแล้วปีเล่า เมื่อถึงปี 230 ก่อนคริสตศักราช นครรัฐฉินโจมตีนครรัฐหานแตกพ่ายไป เมื่อถึงปี 221 ก่อนคริสตศักราชกำจัดนครรัฐฉีสำเร็จ จากนั้น 6 นครรัฐต่างก็ทยอยถูกนครรัฐฉินกวาดตกเวทีอำนาจใหญ่ไป นับแต่นั้นมา ประเทศจีนก็รวมเป็นหนึ่งเดียว

วัฒนธรรมของราชวงศ์โจว ราชวงศ์โจวมีระบบราชการ ระบบการทหาร ระบบกฎหมายการลงโทษ ระบบที่ดินและกฏระเบียบต่างๆ ในการดำเนินชีวิต จนถึงสมัยชุนชิวขงจื่อยกย่งระบบต่างๆ ของราชวงศ์โจวเป็นอย่างมาก บรรพบุรุษของกษัตริย์ราชวงศ์โจวเป็นเคยขุนนางที่ดูแลเรื่องเกษตรกรรมในสมัย ราชวงศ์เซี่ย จึงทำให้เทคโนโลยีทางด้านการเกษตรของราชวงศ์โจวค่อนข้างทันสมัย ต่อมีทรัพยากรและวัตถุดิบหลากหลายประเภทมากยิ่งขึ้น หัตถกรรม พานิชยกรรม และวิทยาศาสตร์ก็ได้รับกรพัฒนา ในสมัยราชวงศ์โจวมีขุนนางที่รับผิดชอบเรื่องการดูดาวและการคำนวณปฏิทิน โดยเฉพาะทฤษฏี 5 ธาตุ (โหงวเฮ้ง) กับ ทฤษฏีปา กว้า (โป๊ยก่วย) ก็อาจจะเริ่มขึ้นในสมัยนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *