จากมู่หลานถึงเตียวเสี้ยน (2) เพลงพื้นบ้านก็แสดงความขมขื่นของหญิงชาวบ้าน วรรณกรรมชาวบ้านที่สะท้อนแง่มุมชีวิตของหญิงธรรมดาในชนบท ก็บ่งชี้ให้เราทราบว่า ฐานะทางสังคมและจารีตประเพณีที่กดบังคับเธอเหล่านั้นไว้เป็นเช่นไร วรรณกรรมเหล่านี้ไม่มีการบ่งชี้ยุคสมัย แต่ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาพูด เพราะเป็นเพลงชาวบ้าน ซึ่งจะไม่ได้รับการศึกษาถึงกับจะรจนาภาษาเขียนขึ้นมาอย่างสละสลวยได้ และทัศนะของผู้รวบรวม ได้กล่าวถึงเพลงพื้นบ้านดังนี้
“…สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมอันน่าเศร้าของหญิงจีนในสังคมเก่า ไม่ว่าจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในมุมหนึ่งมุมใดของบ้าน หรือเหนื่อยยากตรากตรำในท้องนา ผู้หญิงเหล่านี้จะร้องออกมาเป็นถ้อยคำที่คล้องจองกันเพื่อระบายความโศกเศร้า หรือขจัดมันออกไปในเมื่อต้องเผชิญเข้ากับเคราะห์กรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพลงพื้นบ้านทั้งหลายจึงเต็มไปด้วยภาพชีวิตของผู้หญิงภายใต้ชะตากรรมต่างๆ กันของสังคมจีนเก่า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า เพลงพื้นบ้าน คือวรรณคดีของสตรีเพศนั่นเอง…”
ตัวอย่างบางบท
“เจดีย์สูงเด่น เห็นเคียวแขวนไว้ เคียวนี้คมนัก ตัดผักฉับไว ผักนี้ยาวไป ตัดได้สองแถว ผักนี้สั้นนัก ตัดสักสองชาม สะใภ้คนงาม พ่อผัวหนึ่งชาม แม่ผัวหนึ่งชาม พลั้งมือพลาดไป ชามดอกทับทิม จิ้มลิ้มน่าใช้ ตกแตกบรรลัย พ่อผัวหวดขวับ แม่ผัวสับด้วยไม้ สะใภ้ตกใจ เตลิดไปลับตา”
เห็นได้ว่าฐานะของสะใภ้ ก็ไม่ได้ต่างจากทาสรับใช้สักเท่าใดนัก เมื่อทำพลาดพลั้งก็ถูกเฆี่ยนตีทารุณ
“สาวนั่งซักผ้า อยู่ริมธารา ไม่เงยมองใคร คนเขาถามเออ เธอเป็นไรไป? “ฉันสาวสุดใจ ผัวแก่คราวลุง!”
หญิงสาวที่ไม่มีโอกาสเลือกคู่ครอง ถูกยกให้คนแก่ ก็ได้แต่ก้มหน้ารับชะตากรรมอย่างขมขื่น
“สาวสิบแปดเจ้าบ่าวเก้าขวบกลุ้ม กลางคืนอุ้มขึ้นเตียงนอนเคียงคู่ หากสิ้นแม่เราสองพ่อยอดชู้ คือลูกฉันแหละพ่อหนูอย่างอแง”
นี่ก็หญิงสาวที่ถูกยกให้เป็นเมียเด็กเก้าขวบ จนรู้สึกว่าผัวควรจะเป็นลูกตัวเองมากกว่า แต่เพราะมีแม่อยู่ จึงต้องเป็นผัวเมียกัน
“เลี้ยงหมูไว้กินเนื้อ เลี้ยงหมาเผื่อเฝ้าเคหา เลี้ยงแมวเติบโตมา จับมุสิกก็สมใจ เลี้ยงเจ้าเด็กผู้หญิง ประโยชน์ยิ่งคือสิ่งไร? เลี้ยงไว้เพื่ออันใด? ไม่เห็นคุณอุ่นใจเลย”
นี่แสดงให้เห็นว่าในสายตาของพ่อแม่ ฐานะของลูกสาวตกต่ำกว่าหมูหมาเสียอีก น่ารันทดใจแทน อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า ความคิดปรัชญาจีนแม้จะมองหญิงเป็นมนุษย์ แต่ก็ปฏิบัติกับหญิงไม่ดีนัก ซ้ำมองหญิงเป็นต้นเหตุของความหายนะ
แล้วหญิงที่ถูกยกย่องในตำนานต่างๆ เล่า? เบื้องหลังของเธอเหล่านั้นเป็นเช่นไร ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสองคนคือมู่หลานและเตียวเสี้ยน พร้อมกับข้อสังเกตบางประการ อันเป็นทัศนะของข้าพเจ้าเอง
ตำนานเรื่องมู่หลาน
มู่หลานเป็นสตรีจีนในสมัยชุนชิว ที่มิได้มีตัวตนทางประวัติศาสตร์มากมายนัก แต่วีรกรรมของนางก็มีการเล่าขานกันต่อมาในบทกลอน ซึ่งชื่อว่า “มู่หลานซือ” ดังต่อไปนี้
(เนื่องจากกลอนบทนี้ ข้าพเจ้าหาภาษาไทยไม่พบ จึงถอดความจากภาษาจีนด้วยตนเอง โดยรักษาถ้อยคำอย่างเคร่งครัดที่สุด)
木兰诗
โคลงมู่หลาน
唧唧复唧唧,木兰当户织,
จีจีซ้ำจีจี(๑) มู่หลานผินประตูทอผ้า
不闻机杼声,惟闻女叹息。
ไป่ยินเสียงกระสวย ยินเพียงนางถอนใจ
问女何所思,问女何所忆,
ถามเจ้าคิดอันใด ถามเจ้าคะนึงอันใด
女亦无所思,女亦无所忆。
เจ้าไซร้ไร้สิ่งคิด เจ้าไซร้ไร้สิ่งคะนึง
昨夜见军帖,可汗大点兵。
คืนวานเห็นประกาศทัพ ข่านใหญ่ยกรี้พล
军书十二卷,卷卷有爷名,
หนังสือทัพสิบสองบท บทบทมีนามพ่อ
阿爷无大儿,木兰无长兄,
ท่านพ่อไร้บุตรใหญ่ มู่หลานไร้พี่ชาย
愿为市鞍马,从此替爷征。
ใคร่จักซื้ออานม้า จากนี้แทนพ่อรบ
东市买骏马,西市买鞍鞯,
ตลาดออกซื้ออาชา ตลาดตกซื้ออานเจียน(๒)
南市买辔头,北市买长鞭。
ตลาดใต้ซื้อบังเหียน ตลาดเหนือซื้อแส้ยาว
旦辞爷娘去,暮宿黄河边。
รุ่งลาพ่อแม่จาก เย็นพักริมหวงเหอ
不闻爷娘唤女声,但闻黄河流水鸣溅溅。
ไป่ยินเสียงพ่อแม่เพรียกเจ้า เพียงยินน้ำหวงเหอดังซ่าซ่า
旦辞黄河去,暮宿黑山头。
รุ่งลาหวงเหอจาก เย็นพักข้างเขาดำ
不闻爷娘唤女声,但闻燕山胡骑鸣啾啾。
ไป่ยินเสียงพ่อแม่เพรียกเจ้า เพียงยินชาวหูเขาเอี้ยน(๓)ควบดังจิวจิว
万里赴戎机,关山度若飞。
หมื่นลี้ไปสมรภูมิ ด่านเขาผ่านดังบิน
朔气传金柝,寒光照铁衣。
ลมเหนือกรายเกราะทอง(๔) แสงเยือกส่องเสื้อเหล็ก(๕)
将军百战死,壮士十年归。
ขุนทัพร้อยรบตาย ผ่านศึกสิบปีกลับ
归来见天子,天子坐明堂。
กลับมาเฝ้าเทียนจื่อ เทียนจื่อนั่งโถงอำไพ
策勋十二转,赏赐百千强。
บันทึกความชอบสิบสองครา บำเหน็จกว่าร้อยพัน
可汗问所欲,木兰不用尚书郎。
ข่านถามประสงค์ใด มู่หลานไม่เอาซ่างซูหลาง(๖)
愿驰千里足,送儿还故乡。
อยากควบม้าพันลี้ ส่งข้ากลับเมืองนอน
爷娘闻女来,出郭相扶将。
พ่อแม่ยินลูกมา ออกชานประคองกัน
阿姊闻妹来,当户理红妆。
พี่สาวยินน้องมา ผินประตูจัดเสื้อแดง
小弟闻姊来,磨刀霍霍向猪羊。
น้องเล็กยินพี่มา ลับมีดเควี้ยวคว้าวหาหมูแพะ
开我东阁门,坐我西阁床。
เปิดประตูห้องนอนออก พาข้านั่งเตียงตก
脱我战时袍,着我旧时裳。
เปลื้องชุดข้ายามรบ สวมชุดข้าครั้งเก่า
当窗理云鬓,对镜帖花黄。
ผินหน้าต่างจัดสางผม ส่องกระจกแปะฮัวหวง(๗)
出门看火伴,火伴皆惊忙。
ออกบ้านพบเพื่อนหนุ่ม เพื่อนหนุ่มล้วนตะลึง
同行十二年,不知木兰是女郎!
รบด้วยสิบสองปี ไป่ทราบมู่หลานคือสาวน้อย!
雄兔脚扑朔,雌兔眼迷离。
กระต่ายผู้ขาป้องปัด กระต่ายเมียหรี่ตาชม้าย
双兔傍地走,安能辨我是雄雌?
กระต่ายคู่วิ่งบนพื้น ไฉนอาจแยกแยะข้าเป็นผู้เมีย?
(๑) จีจีคือเสียงทอผ้า
(๒) เจียนหมายถึงผ้ารองอาน
(๓) เขาเอี้ยนอยู่ทางเหนือ เป็นที่อาศัยของเผ่าหู
(๔) เกราะหมายถึงเกราะที่เคาะให้สัญญาณไม่ใช่เสื้อเกราะ
(๕) อันนี้ถึงจะหมายถึงเสื้อเกราะ
(๖) ตำแหน่งเลขาธิการ
(๗) กระดาษเครื่องสำอางโบราณไว้แปะหน้าผากให้ออกสีเหลืองเป็นรูปดอกไม้
อธิบายความโดยย่อ
คือมู่หลานนั่งทอผ้าถอนใจอยู่หน้าประตูเพราะมีประกาศเกณฑ์ทหาร แต่ที่บ้านไม่มีผู้ชายฉกรรจ์ มีแต่พ่อคนเดียว (ตอนหลังทราบว่ามีน้องชาย แต่ตอนนั้นคงยังเล็ก) จึงออกรบแทนพ่อ หาซื้อม้าซื้ออานจากที่ต่างๆ หลายที่แล้วเดินทางไกล เมื่อหยุดพักตามที่ต่างๆ ก็คำนึงถึงพ่อแม่ตลอด ไปเผชิญอากาศทางเหนืออันหนาวเย็นและผ่านสมรภูมิรบหลายครั้งมีความชอบมาก เทียนจื่อจะตั้งให้เป็นขุนนางแต่มู่หลานไม่เอา ขอกลับบ้านเก่า พ่อแม่พอได้ยินว่าลูกมา สองตายายก็ประคองกันงกๆ ออกมารับ พี่สาวได้ยินว่าน้องจะมาก็รีบจัดแจงเสื้อผ้าให้สวย น้องชายรีบลับมีดจะฆ่าหมูแพะให้พี่สาวกิน พอมาถึงก็เปิดประตูห้องนอนให้นาง พานางนั่งเตียงแล้วเปลื้องชุดเกราะสวมชุดสตรีให้ จัดแจงแต่งผมแต่งหน้า แล้วมู่หลานจึงออกจากบ้านไปหาเพื่อนชายที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันในสนาม รบ ต่างคนต่างตกตะลึงคาดไม่ถึงว่าที่เคยรบด้วยกันมาหลายปีนั้นจริงๆ เป็นสาวสวย คราวนี้ก็ถึงบทเกี้ยวพาราสีกันไปตามเรื่อง
มู่หลานที่ได้ชื่อว่าวีรสตรีคนหนึ่ง เพราะเหตุใดจึงถูกบันทึกไว้ในบทกลอน ก็เพราะเหตุที่นางเปลื้องออกซึ่งอัตลักษณ์ของสตรี แต่งตนเป็นบุรุษเพศ ออกสนามรบเพื่อให้บิดาได้อยู่กับบ้าน เพราะถ้าไม่ไปเสียแล้ว พ่อก็จะต้องไปแทน และนางก็รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายถึงสิบสองปี จนตราบถึงที่สุด อัตลักษณ์สิบสองปีในฐานะบุรุษห้าวหาญของนาง ก็ถูกทำลายลงด้วยตัวเอง เมื่อสงครามสงบ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นชายอีกต่อไป
มู่หลานมีลักษณะเป็นหญิงที่ดีมาตั้งแต่ต้น นางปั่นด้ายทอผ้าตามหน้าที่ของสตรี และนางก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สตรีสมควรกระทำ แต่เมื่อวันคืนที่จำเป็นมาถึง ความรักพ่อของมู่หลาน ทำให้นางตัดสินใจทำสิ่งที่สตรีไม่ทำ นั่นคือ ปลอมเป็นบุรุษเพศออกไปรบ ระยะเวลาสิบสองปีที่ออกไปรบ นางทำตัวเยี่ยงบุรุษทุกประการ (ขอให้ทราบว่านี่เป็นตำนาน หากเป็นเรื่องจริง มู่หลานไม่มีทางปกปิดได้นานขนาดนั้น) แต่เวลายาวนานขนาดนั้น นางก็ยังเก็บความเป็นสตรีเอาไว้ตลอด และเมื่อได้โอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้หญิงอย่างเก่า นางก็ดีอกดีใจตื่นเต้น ปลดเปลื้องเสื้อเกราะ กลับสู่อาภรณ์หญิง ผัดแป้งแต่งหน้า ออกชม้ายเมียงหนุ่มๆ อย่างที่สตรีปกติทำกัน
พื้นที่ในตำนานของนางเริ่มต้นก็ต่อเมื่อนางตัดสินใจผละจากความเป็นสตรี มีพฤติกรรมเยี่ยงบุรุษเพศ จะกล่าวได้หรือไม่ว่า พฤติกรรมอย่างนี้เท่านั้น ที่เปิดโอกาสให้สตรีมีอันถูกบันทึกกับเขาบ้าง หากพวกเธอดำเนินชีวิตตามแบบอย่างสตรีที่ดี คือปั่นด้ายทอผ้า เลี้ยงดูบุตร ปรนนิบัติสามี ก็ไม่มีโอกาสที่จะปรากฏตัวตนในประวัติศาสตร์
ทางเลือกของสตรีจะมีแต่
๑. ใช้ชีวิตตามกรอบประเพณีและถูกลืม
๒. ทิ้งความเป็นสตรีและถูกบันทึก เท่านั้นหรือ?
ทางเลือกที่สามก็มี และน่าสนใจไม่แพ้กัน แต่ผู้ที่ทำได้อย่างสวยงามที่สุดจนถึงทุกวันนี้ เห็นจะมีแต่เตียวเสี้ยน (ซึ่งในความจริงชื่อของเธอก็ถูกแต่งขึ้น เพราะตัวจริงไม่ได้บันทึกชื่อไว้เป็นทางการ) ผู้ทำได้ทั้งรักษาความเป็นสตรี และทั้งถูกยกย่องว่าเป็นผู้เสียสละเพื่อชาติ