สามก๊กโจโฉแตกทัพเรือ-02

การใช้คนของซุนกวน (6)

ซุนกวนบริหารคน
ซุนกวนบริหารคน

การใช้คนของซุนกวน (6)

4).การผูกใจคน

การบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่นอกจากการคัดคน พัฒนาคน สิ่งสำคัญอีกประการคือการรักษาคนให้อยู่กับองค์กร ซุนกวนเป็นนักบริหารที่มีความเป็นเลิศในการผูกใจคนเพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ ภักดีต่อองค์กร เนื่องจากเขามีรูปแบบการผูกใจหรือมัดใจผู้ใต้บังคับบัญชาที่แตกต่างกับผู้นำ คนอื่นๆในสามก๊กเพราะเขาให้ความสนใจกับเรื่องเล็กๆน้อยๆของผู้ใต้บังคับ บัญชา

กรณีของจิวท่าย ทหารเอกผู้เปรียบเสมือนองค์รักษ์ของซุนกวน เมื่อคราวซุนกวนถูกล้อมจิวท่ายก็ขับม้าตามหาเจ้านาย พอช่วยซุนกวนออกมาได้เพียงไม่นานซุนกวนก็พลัดกับจิวท่ายอีก สถานการณ์เป็นเช่นนี้สองสามครั้งกว่าที่จิวท่ายจะนำเจ้านายฝ่ากองทัพโจโฉออก มาได้ทั้งร่างกายของจิวท่ายก็เต็มไปด้วยบาดแผล

เมื่อมาถึงกลับมาถึงค่ายซุนกวนจึงจัดงานเลี้ยงปลอบขวัญแล้วเชิญจิวท่ายมา นั่งดื่มแล้วกล่าวขอบคุณจิวท่ายที่ช่วยชีวิตพร้อมทั้งให้จิวท่ายถอดเสื้อ แสดงบาดแผลทั้งกาย ปรากฏว่าร่างกายจิวท่ายมีบาดแผลมากมายจากการออกศึกพิทักษ์เจ้านาย ซุนกวนถามจิวท่ายว่าแผลนี้ได้มาอย่างไรจิวท่ายก็บอกว่าแผลนี้ถูกธนูยิงตอน อารักขาท่าน ซุนกวนจึงรินสุราให้จิวท่ายแสดงการขอบคุณ จากนั้นซุนกวนก็สอบถามถึงที่มาของบาดแผลแต่ละแห่งทุกครั้งที่จิวท่ายตอบซุน กวนก็จะรินสุราคารวะองค์รักษ์ผู้นี้

จนกระทั่งจิวท่ายเมาหลับ ซุนกวนจึงสั่งให้ทหารเอาสัปทนของตนเองกั้นให้จิวท่ายแล้วให้ทหารพาเขากลับไป ยังค่าย สร้างความตื้นตันใจแก่เหล่าแม่ทัพนายกองทุกคนที่ซุนกวนให้ความสำคัญกับลูก น้องที่ทำความชอบ

ส่วนกำเหลงสร้างวีรกรรมอันยอดเยี่ยมใช้ทหารม้าเร็วเพียง 100 คน อาสาบุกค่ายทหารโจโฉซึ่งมีกองทัพนับแสนโดยให้สัญญากับเจ้านายว่าถ้าเสียแม้ ม้าศึกเพียงตัวเดียวต่อให้การใหญ่สำเร็จก็ไม่ขอรับความชอบ

ผลปรากฏว่าค่ายโจโฉกลายเป็นทะเลเพลิง ไพร่พลโจโฉถูกทหารม้าเร็วของกำเหลงสังหารนับพัน แม้จะไม่ใช่จำนวนมากแต่ก็ข่มขวัญกองทัพรัฐบาลไปได้พอสมควร เมื่อกำเหลงกับมาถึงค่าย ซุนกวนจึงปรบรางวัลด้วยการมอบผ้าแพร1,000พับและกระบี่100 เล่มให้กับกองทหารม้าและกล่าวชมกำเหลงว่า “โจโฉมีเตียวเลี้ยว ข้าพเจ้าก็มีกำเหลง” (เตียวเลี้ยวเป็นทหารเอกของโจโฉที่ใช้กองทัพเพียงไม่กี่พันเอาชนะกองทัพนับ แสนของกังตั๋งและเกือบจะจับซุนกวนสำเร็จ จนเป็นที่มาของประโยคโด่งดังในกังตั๋งที่ว่าเด็กน้อยร้องไห้เอ่ยชื่อเตียว เลี้ยวยังหยุดร้อง)

การกล่าวชมเช่นนี้ถือว่าซุนกวนให้เกียรติกำเหลงเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็น ยอดทหารเอกทำให้ชื่อเสียงของกำเหลงขจรไกลไปทั่วกังตั๋งและแน่นอนถ้าใครเป็น กำเหลงก็ย่อมต้องปลื้มปิติเป็นธรรมดาซึ่งจะเห็นว่าการปรบรางวัลลูกน้องของ ซุนกวนในแต่ละรูปแบบล้วนไม่ธรรมดาเป็นทั้งการให้เกียรติและสนับสนุนไปในตัว

กรณีของลิบอง แม่ทัพใหญ่แห่งง่อก๊กป่วยหนัก (ฉบับเจ้าพระยาพระคลังกล่าวว่าลิบองถูกวิญญาณกวนอูทำร้าย) ซุนกวนก็ให้เอาตัวลิบองเข้าวัง ยอมจ่ายเงินพันตำลึงทองเพื่อหาหมอเทวดามารักษานายทหารผู้นี้

ในหนังสือศิลปะการใช้คนในสามก๊ก ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ใคร่จะดูอาการของลิบองวันละหลายครั้งแต่ก็กลัวลูกน้องผู้นี้จะเหนื่อย จึงเจาะกำแพงสังเกตอาการเวลาที่หมอฝังเข็มลิบอง ซุนกวนก็รู้สึกเจ็บแทน เมื่อเห็นลิบองกินได้ซุนกวนก็ดีใจพูดจาเล่นหัวกับคนสนิทได้ มิฉะนั้นก็เป็นทุกข์เป็นร้อน กลางคืนนอนก็ไม่ค่อยหลับ

กระทั่งเมื่อลิบองเสียชีวิต ซุนกวนถึงกับร้องไห้เศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของแม่ทัพใหญ่ผู้นี้มากเพราะ ถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของแผ่นดิน

วิธีการผูกใจคนของซุนกวนสอดคล้องกับทฤษฎีการจูงใจของมาสโลว์ ในเรื่อง “ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์” (Maslow’s hierarchy of needs) ซึ่งแบ่งเป็น 5 ประเภทคือ

ระดับที่ 1 ความต้องการทางด้านร่างกาย (Physiological needs) ได้แก่ ความต้องการขั้นพื้นฐานเบื้องต้น อันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีพของมนุษย์ ได้แก่ อาหาร น้ำ อากาศ การพักผ่อนหลับนอน และความต้องการทางเพศ เป็นต้น ความต้องการเหล่านี้จะต้องได้รับการตอบสนองจนเป็นที่พอใจก่อนความต้องการใน ระดับสูงขึ้นจึงจะเกิดขึ้น

ระดับที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายหลังจากความต้องการในระดับที่ 1 ได้รับการตอบสนองจนเป็นที่พอใจแล้วและมีความรู้สึกอิสระไม่ต้องเป็นห่วง กังวลกับความต้องการทางด้านร่างกายอีกต่อไป ความต้องการความปลอดภัยจึงเกิดขึ้น

ระดับที่ 3 ความต้องการทางสังคม (Social needs) บางครั้งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ความต้องการความรักและการเป็นเจ้าของ” (love and belongingness) เป็นความต้องการที่จะมีความรักความผูกพันกับผู้อื่น เช่น ความรักจากเพื่อน เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือคนรัก เป็นต้น ซึ่งความรักดังกล่าวนี้มีความหมายรวมถึงทั้งการให้และการรับความรักด้วย

ระดับที่ 4 ความต้องการมีเกียรติยศมีศักดิ์ศรีในสังคม (esteem needs หรือ egoistic needs) เป็นความต้องการที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของตนเองว่าตนเองมีประโยชน์มีคุณ ค่า และต้องการให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าของตน ยอมรับนับถือยกย่องตนว่าเป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ และมีศักดิ์ศรีด้วย

ระดับที่ 5 ความต้องการสมหวังในชีวิต (self-actualization หรือ self-fulfillment needs) เป็นความต้องการขั้นสูงสุดที่บุคคลปรารถนาที่จะได้รับผลสำเร็จในสิ่งที่ตน คิด และตั้งความหวังไว้ ซึ่งแต่ละคนต่างตั้งความมุ่งหวังของตนเองไว้แตกต่างกัน จึงยากที่จะให้คำนิยามได้ แต่หากจะกล่าวง่ายๆ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ความต้องการนี้เป็นความต้องการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขั้นสูงสุดที่ได้ตั้งความหวังไว้

หากอธิบายโดยใช้ทฤษฏีดังกล่าวจะพบว่าซุนกวนเป็นเจ้านายที่อ่านความต้องการ ของลูกน้องได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำทำให้เขาสามารถจูงใจผู้ใต้บังคับบัญชา ได้อย่างไร้ที่ติทั้งยังทำให้บุคลากรเหล่านี้จงรักภักดีต่อองค์กรส่งผลให้ การใช้คนของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

จบตอนที่ 6

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *