ขงเบ้ง

กลยุทธ์สยบมหาอำนาจ (17)

ขงเบ้ง
ขงเบ้ง

กลยุทธ์สยบมหาอำนาจ (17) : กลยุทธ์แสร้งจับเพื่อปล่อยพิชิตใจเบ้งเฮ็ก กลยุทธ์ที่ 16 ของ 36 กลยุทธ์ ได้ว่าในเรื่องของกลยุทธ์ แสร้งปล่อยเพื่อจับ กลยุทธ์นี้หมายความว่า ถ้าบีบคั้นจนเกินไปนัก สุนัขก็จักสู้อย่างจนตรอก ปล่ายข้าศึกหนี ก็จักทำลายความเหิมเกริมของข้าศึกได้ ทว่าต้องไล่ตามอย่าละ เพื่อบั่นทอนกำลังของข้าศึกให้กระปลกกะเปลี้ย ครั้นเมื่อสิ้นเรี่ยวแรงใจก็มิคิดต่อสู้ด้วยแล้ว จึงจับ อันเป็นการรบที่ไม่เสียเลือดเนื้อ อีกทั้งทำให้ข้าศึกแตกสลายไปเอง ในบันทึก “ไท่ผิงเทียนว๋อ อักษรศาสตร์” ก็มีอธิบายไว้ว่า “เมื่อจักจับให้ปล่อย เมื่อจักเร็วให้ช้า รอเมื่อหย่อนยานจึงตี มิมีที่ไม่ชนะ”

ในสมัยสามก๊ก ขงเบ้งแห่งจ๊กก๊กต้องการทำให้เมืองทางด้านใต้ของเสฉวนสงบสุขถาวรจึงได้ใช้ กลยุทธ์นี้ในการจัดการกับเบ้งเฮ็ก เจ้าเมืองม่าน ซึ่งว่ากันว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พม่า ไทย ลาว) โดยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจดังนี้

หลังจากขงเบ้งสามารถปราบกองทัพ 5 สายของวุยก๊กได้แล้ว ในแคว้นจ๊กก็เกิดเรื่องขึ้นในดินแดนทางตอนใต้ของเสฉวนมีเมืองชื่อว่า “ม่าน” มี “เบ้งเฮ๊ก” เป็นเจ้าเมือง ซึ่งภายหลังสถาปนาตนเป็น “ม่านอ๋อง” ยุให้เจ้าเมืองชายแดน ที่ติดกับเสฉวนก่อกบฎ ขงเบ้งออกปราบปรามจนสงบ คิดที่ยกกองทัพจกห้าสิบหมื่นตีดินแดนม่าน โดยมีจุดประสงค์ ต้องการให้ซื้อใจเบ้งเฮ๊ก ไม่ให้ดินแดนทางใต้เป็นกบฎอีกต่อไป

ฝ่ายเบ้งเฮ๊ก เจ้าเมืองม่าน รู้ว่ากองทัพจ๊กยกมา จึงระดมทุกเผ่าทุกหัวเมืองต่อสู้กับกองทัพจ๊ก แต่สู้ไม่ได้ กองทัพม่านเสียทีกองทัพจกทุกครั้ง เสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก ตัวเบ้งเฮ๊กเอง ถูกจับถึงหกครั้ง แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังขอทำการรบต่อโดยการรบครั้งที่เจ็ด เบ้งเฮ็กพาครอบครัวกับทหารที่เหลือประมาณแปดร้อย ไปอาศัยลุดตัดกุด เจ้าเมืองออโกก๊ก ซึ่งอยู่ไกลไปทางทิศตะวันออกถึงเจ็ดพันเส้น มีทหารที่คงกระพันชาตรี เพราะสวมเกราะหวายแช่น้ำมันยิงฟันไม่เข้า และสามารถลอยตัวข้ามน้ำได้ เรียกชื่อแปลกว่าทหารตีนกะเป๋ง จำนวนประมาณสามหมื่น ยกมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำโท้หัวซุย

ขงเบ้งก็วางอุบายให้อุยเอี๋ยนออกรบแล้วทำเป็นแพ้ถอยหนีไปถึงสิบห้าครั้ง ตัวลุดตัดกุดขี่ช้างมารบกับอุยเอี๋ยน แล้วก็ไล่ตามไปจนถึงตำบลจัวปัวสกซึ่งเป็นพื้นที่ราบเรียบ และขงเบ้งได้ทิ้งเกวียนบรรจุประทัดเหล็กดักเอาไว้ โดยให้จูล่งคุมทหารจุดเพลิงทิ้งให้เกวียนนั้นระเบิดขึ้น เป็นเพลิงไหม้ทหารตีนกะแป๋งตายไปประมาณสองหมื่น และที่ถูกประทัดเหล็กตัดศีรษะและแขนขาอีกประมาณหมื่นหนึ่ง กลิ่นศพไหม้เหม็นฟุ้งตระหลบไป ตัวลุดตัดกุดก็ตายอยู่กลางเพลิงนั้น

พอเบ้งเฮ็กยกทหารหนุนขึ้นไปในเวลากลางคืนก็ถูกทหารของขงเบ้งล้อมจับตัวไว้ ได้ และขงเบ้งก็ให้ทหารตีค่ายเบ้งเฮ็กแตก จับตัวนางจกหยง เบ้งฮิว ตั้วไหล และสมัครพรรคพวกมาได้ทั้งสิ้น คราวนี้เบ้งเฮ็กคิดได้ว่า แต่ก่อนมาไม่เคยได้ยินว่าทำการศึกกัน เขาจับได้แล้วปล่อยเสียเจ็ดครั้ง แม้ตนจะเป็นคนต่างแดนกับเขาก็จริง แต่ก็ควรรู้จักผิดชอบและมีความอายอยู่บ้าง จึงทิ้งทิฐิมานะ ชวนภรรยาและครอบครัว รวมทั้งสมัครพรรคพวกมาคำนับกราบขงเบ้งแล้วสารภาพว่า

“ ตัวข้าพเจ้าได้กระทำความผิด มหาอุปราชไว้ชีวิตปล่อยไปมิเอาโทษข้าพเจ้าถึงหกครั้ง มหาอุปราชจงอดโทษข้าพเจ้าเถิด แต่นี้ไปเมื่อหน้าข้าพเจ้ามิได้คดต่อมหาอุปราชสืบไปอีกเลย “
เป็นอันว่าขงเบ้งสามารถซื้อใจเบ้งเฮ๊กได้สำเร็จในการรบครั้งที่ 7 นี้เอง ขงเบ้งต้องการให้บ้านเมืองทางใต้สงบสุขจึงตั้งเบ้งเฮ๊กดำรงตำแหน่งเดิม เพื่อให้คุมกองทัพม่านสืบไป อาณาจักรจ๊กจึงไม่ต้องกังวลทางใต้อีกต่อไป

กลยุทธ์นี้สรุปได้ว่า “แสร้งปล่อยเพื่อจับ จุดประสงค์อยู่ที่ “จับ” “ปล่อย” เป็นวิธีการ “จับ” คือจับทาง “ใจ” ให้ยินยอมอ่อนน้อมทั้งกายและใจ ผู้ถูกจับ “ใจ” จักกลายเป็นข้าทาสบริวารของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนกว่าจะเกิดความสำนึกใน “ศักดิ์ศรี” ของตนเอง กลยุทธ์นี้ จึงเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาด ในการบั่นทอนจิตใจสู้รบและขวัญของข้าศึก ด้วยวิธีการทั้งแจ้งและลับอย่างหนึ่ง อันได้ผลเกิดความคาดหมาย นั้นแล”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *