มู่หลาน

จากมู่หลานถึงเตียวเสี้ยน (1)

มู่หลาน
มู่หลาน

จากมู่หลานถึงเตียวเสี้ยน (1) ฐานะหญิงในปรัชญาสำนักหลักๆ แม้ในจำนวนนักปรัชญาเมธีแห่งแดนมังกร ไม่ใคร่มีผู้กล่าวถึงสถานะของสตรีว่าต่ำต้อยอย่างชัดเจนมากเท่ากับปรัชญาทาง โลกตะวันตก แต่เรื่องราวต่างๆ ที่แฝงอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์หรือวรรณคดี ก็สะท้อนถึงเรื่องราวเหล่านี้ไม่น้อย

บันทึกในหนังสือ “เลี่ยจื่อ” มีตอนหนึ่งกล่าว….

“….ขงจื่อเดินทางไปยังไท่ซาน ขณะนั้น ที่หมู่บ้านเฉิง สุดปลายเขตแดนของแคว้นหลู่กว๋อ ขงจื่อได้พบ หรงฉี่ฉี ซึ่งแต่งกายโดยนุ่งห่มด้วยอาภรณ์อันตัดเย็บมาจากหนังกวางอย่างหยาบๆ เข็มขัด…ก็ใช้เส้นเชือกผูกเอาไว้แทน…อีกทั้งยังดีดพิณบรรเลงดนตรีขับขาน บทเพลงอยู่
ด้วยความสำราญ ด้วยความใคร่รู้ ขงจื่อจึงถามหรงฉี่ฉีขึ้นว่า ท่านผู้เฒ่า ไยท่านจึงทำตัวเสมือนช่างมีความสุขเหลือล้ำอย่างนี้? หรงฉี่ฉี…ตอบว่า สำหรับข้าแล้ว เรื่องราวอันจะทำให้เป็นสุขช่างมีมากมาย ท่านลองคิดดูสิว่า ในสรรพสิ่งอันพระเจ้าได้สร้างมานั้น สิ่งที่สูงส่งล้ำค่าคือมนุษย์ใช่ไหม นี่คือความสุขประการที่ ๑ ของข้า และยิ่งกว่านั้น ในหมู่มนุษย์ชายหญิงด้วยกันนั้น เพศชายมักถูกให้ความสำคัญและถูกยกย่องเสียยิ่งกว่าหญิง และข้าก็ช่างโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เพศชาย นี่คือความสุขในประการที่ ๒ ของข้า…มนุษย์…จำนวนหนึ่ง…ตายไปโดยยังมิได้พบเห็นตะวันและเดือน…ข้า นั้นเล่า
กระทั่งบัดนี้ มีชีวิตยืนยาวมาถึง ๙๐ ปีแล้ว และนี่คือความสุขในประการที่ ๓ ของข้า…”

ตามบันทึกของเลี่ยจื่อ ขงจื่อยกย่องชายชราว่าเป็นผู้แจ่มแจ้งในชีวิต

ตามปรัชญาสำนักคิดขงจื่อนั้น การยกย่องชายเหนือกว่าหญิงจึงมิได้ถูกปฏิเสธ แต่ยังเคราะห์ดีที่มีการใช้คำว่า ในหมู่มนุษย์ชายหญิงด้วยกัน อันมีนัยะว่า หญิงเป็นมนุษย์เสมอหน้ากับชาย มิได้เป็นครึ่งมนุษย์ หรือไม่ใช่มนุษย์ เพียงแต่กล่าวสะท้อนความจริงของสังคมเท่านั้นว่าชายมักได้รับการยกย่องเหนือหญิง

ในทางปรัชญาเต๋าก็เช่นกัน เช่นที่เราทราบกันอยู่ว่าปรัชญาเต๋าแบ่งสรรพสิ่งเป็นสองขั้ว โดยจัดเข้าใน “อิน” (คนไทยอ่านกันผิดๆ ว่า หยิน) และ “หยาง” อย่างใดอย่างหนึ่ง และในสิ่งที่มีคุณสมบัติเป็น “อิน” ก็หมายถึง ความมืด ความอ่อน ความขลาด ความเย็น ความเฉื่อย วิญญาณ และ เพศหญิง ส่วน “หยาง” ก็มีลักษณะ ความสว่าง ความแข็ง ความกล้า ความร้อน ความเคลื่อน มนุษย์ และ เพศชาย จึงเห็นได้ว่า ปรัชญาเต๋าที่เน้นคุณลักษณะความเป็นคู่ จัดเพศหญิงไว้ในด้านลบ เพศชายไว้ในด้านบวก แน่นอนว่าเป็นการยกย่องเพศชายเหนือเพศหญิง แต่จะกล่าวให้ชัดเจนว่า ปรัชญาเต๋าดูถูกผู้หญิงก็ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ ในทัศนะของเต๋า…

– “อิน” และ “หยาง” มีสภาวะเกื้อกูลกัน และสรรพสิ่งจะต้องสมดุลกันด้วย ธาตุคู่นี้ หาก “อิน” แรงเกินไปก็จะเข้าสู่ด้านมืด หาก “หยาง” แรงเกินไปก็มีอันแตกทำลายเพราะความร้อนแรง ไม่สามารถกล่าวได้ว่า “หยาง” อยู่ได้โดยขาด “อิน” ไม่มีธาตุใดสำคัญกว่าอีกธาตุหนึ่ง

– ในที่นี้มีอุปมาว่า ความแข็งกร้าวนั้นไม่ดี แท้จริงความอ่อนโอนนั้นดีกว่า จงดูต้นไม้ถูกลมพัดหักโค่น แต่ทว่ากอกกอ่อนเอนลู่ไหวไปตามลมจึงอยู่รอด นี่คือเพราะลมแรงนั้นมีกำลังมากเป็น “หยาง” หากเอา “หยาง” เข้าต่อก็จะถึงความพินาศ ฉะนั้นการใช้ความอ่อนโอนตามสถานการณ์ซึ่งเป็นลักษณะ “อิน” จึงเป็นทางดี

ฉะนั้น เช่นเดียวกับที่ยกมาในเรื่องของเลี่ยจื่อ ปรัชญาเต๋าจึงมิได้มองเพศหญิงว่าเป็นกึ่งมนุษย์ หรือไม่ใช่มนุษย์เพียงแต่จัดเข้าในด้านความมืดหรือในด้านลบ แต่ในบางคราวก็กล่าวยกย่องคุณสมบัติด้านลบเช่นกัน

ปรัชญาสองกระแสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสังคมจีน ก็ยังคงมองเพศหญิงเป็นมนุษย์ และก็ไม่ปรากฏว่านักปรัชญาเมธีกระแสรองอื่นใดจะมองว่าหญิงพร่องจากความเป็น มนุษย์ อย่างไรก็ดี การปฏิบัติต่อพวกเธอ ก็ยังคงอยู่ในฐานะกดขี่อยู่ดี ในหน้าประวัติศาสตร์ นอกจากเธอผู้นั้นจะมีความสำคัญจริงๆ หญิงมักถูกเว้นไม่กล่าวถึงชื่อเสียงเรียงนามเลย

สังคมจีนเคยกล่าวถึงยุคแม่เป็นใหญ่ บางทีเรื่องนี้อาจจะมีข้อควรคิด ว่าในสมัยโบราณดึกดำบรรพ์นั้น เป็นสังคมแม่เป็นใหญ่ อย่างที่บางสำนักคิดเคยกล่าวถึงไว้หรือไม่ ตำนานปรัมปราของจีน ย้อนกลับไปถึงสมัยก่อนยุคหิน สมัยที่เพิ่งสร้างโลก ยังไม่มีมนุษย์ แต่มีเทพอยู่สององค์เป็นพี่น้องกัน พี่ชายชื่อว่าฝูซี น้องสาวชื่อว่า หนี่ว์วา ขณะที่ฝูซีไม่อยู่ หนี่ว์วา ได้แอบปั้นดินออกมาให้เหมือนฝูซีตัวเล็กๆ ใส่หูตาปากให้มีประสาทสัมผัส เกิดอัศจรรย์กระโดดโลดเต้นได้ ฝูซีตัวน้อยนี้ได้ชื่อว่า มนุษย์ เกิดความเหงาอยากมีเพื่อน หนี่ว์วาจึงปั้นดินออกมามากมายในรูปร่างต่างๆ กัน และจึงเอาไปวางไว้ในโลก พวกเขาก็สืบพันธุ์กันได้เอง และโดยความเชื่อที่ว่าผู้สร้างมนุษย์เป็นหญิง ในยุคนั้นคือยุคหินจึงเป็นยุคที่แม่เป็นใหญ่ ก็สมดังที่สำนักคิดตะวันตกกล่าวเอาไว้ที่ว่าในสมัยแรกเริ่มนั้น หญิงเป็นเจ้าของลูกน้อยที่เธอคลอดออกมา

ต่อมาเกิดน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ (น่าสังเกตว่าเรื่องน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่นี้มีกล่าวไว้ทั้งในคัมภีร์จีน อินเดีย ยิว คริสต์ อิสลาม น่าเชื่อว่าเป็นความจริงหรือไม่) มนุษย์ตายกันเกือบหมด ฝูซีจึงสมพาสกับหนี่ว์วา (น่าสังเกตว่าในปกรณัมของชนชาติต่างๆ การที่เทพเสพกับน้องสาวตัวเอง เป็นเรื่องสามัญ) และกำเนิดมนุษย์รุ่นต่อมาอีก เนื่องจากมนุษย์รุ่นนี้เกิดจากเชื้อของฝูซี ไม่ใช่การปั้นของหนี่ว์วา สังคมจึงเปลี่ยนเป็นยุคพ่อเป็นใหญ่ มีการเลือกราชาขึ้นปกครอง โดยฝูซีเทพบรรพชนเป็นจักรพรรดิองค์แรกของมนุษย์
การเคลื่อนจากสังคมแม่เป็นใหญ่ ไปสู่สังคมพ่อเป็นใหญ่ ในตำนานจีนกล่าวสรุปไว้อย่างรวบรัด เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันและดูเหมือนว่ามนุษย์ในสองยุคจะไม่มีความ เกี่ยวข้องกัน

ที่จริงแล้วส่วนตัวข้าพเจ้า แม้จะไม่คิดว่าทัศนะดังกล่าวเป็นความจริง แต่การเปลี่ยนแปลงอำนาจจากหญิงสู่ชาย มีเค้าว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการหักหาญด้วยพลังของชาย ประวัติศาสตร์หน้านี้ของมนุษย์ชาติไม่ได้บันทึกไว้ มีแต่เพียงความเห็นเท่านั้น เพราะตั้งแต่มีตัวอักษรบันทึกข้อความต่างๆ มา ชายก็อยู่ในฐานะผู้ปกครองมาตลอด ส่วนยุคแม่เป็นใหญ่ที่บางคนเห็นว่ามีนั้น เกิดขึ้นก่อนประวัติศาสตร์นานโข

คตินี้มีการกล่าวถึงในหนังสือชุนชิวเลียดก๊ก ซึ่งบันทึกเหตุการณ์โบราณก่อนสมัยราชวงศ์ฉิน หรือที่เรียกว่าสมัยราชวงศ์โจว สมัยชุนชิว สมัยจ้านกว๋อ ตามลำดับ สมควรกล่าวว่า ราชวงศ์โจวเป็นสังคมแรกของจีนที่มีโครงสร้างอย่างเด่นชัด และจีนเป็นเอกภาพเสมอมา ราชวงศ์โจวสืบทอดอำนาจจากวงศ์ซาง (ซึ่งสืบทอดจากราชวงศ์เซี่ย ทั้งสองราชวงศ์นี้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏ) ราชวงศ์โจวปราบปรามชนเผ่าต่างๆ ได้ราบคาบดังนั้นธงสัญลักษณ์ของราชวงศ์โจวจึงเป็นรูปมังกร ซึ่งเกิดจากการรวมเอาสัตว์สัญลักษณ์ของเผ่าต่างๆ ไว้ด้วยกัน และครองความยิ่งใหญ่หลายร้อยปีจนในที่สุดความแตกแยกก็เกิดขึ้นจนได้เพราะ สตรีเป็นสาเหตุ

แท้จริงเมื่อใดก็ตามที่สตรีถูกกล่าวว่าเป็นสาเหตุของความหายนะ มักจะมีความโง่มัวเมาของบุรุษเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่คนที่ได้รับการลงโทษก็ยังคงเป็นสตรี เรื่องกล่าวว่า ในรัชสมัยของโจวโยวหวาง (สมัยก่อนไม่เรียกฮ่องเต้ แต่เรียกหวาง คือ อ๋อง) ทรงได้หญิงงามชื่อนางเปาซื่อ ซึ่งเป็นครอบครัวชาวบ้านมาเป็นภริยาน้อย นางผู้นี้งามพร้อม เสียอย่างเดียวไม่เคยยิ้มเลย โจวโยวหวางใคร่ทัศนานางยิ้มหัวแม้สักเล็กน้อยก็ยังดี ดูว่านางจะงดงามน่ารักเพียงใด การยั่วให้ยิ้มก็เกิดขึ้นนานาประการ ตั้งแต่แบบอารมณ์ขันธรรมดาไปถึงตลกร้าย แต่ก็ไม่ประสบผล นางเปาซื่อไม่เคยยิ้ม เพราะในใจเคียดแค้นโจวโยวหวางที่ช่วงชิงเอานางมา

มีขุนนางคนหนึ่งได้เสนอความคิดงี่เง่าให้โจวโยวหวางและโจวโยวหวางก็งี่เง่า พอที่จะเห็นชอบด้วย กล่าวคือ ในสมัยราชวงศ์โจวจะมีการแต่งตั้งลูกหลานกษัตริย์ไปกินเมืองต่างๆ รอบนอกพระนคร และเมื่อเกิดศึก ก็จะจุดไฟขึ้นบนหอไฟของกำแพงเมืองจีน (สมัยนั้นมีกำแพงเมืองจีนแต่ไม่ยาวเท่าสมัยปัจจุบัน) เพื่อให้สามนตราชต่างๆ เข้ามารวมตัวกันช่วยเหลือพระนคร ทีนี้เราก็เล่น practical joke ด้วยการจุดไฟเล่นโก้ๆ เมื่อเมืองต่างๆ ยกพลเข้ามา ก็บอกว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จุดเล่นสนุกๆ นางเปาซื่อที่เห็นเจ้าสามนตราชยกทัพมาเก้อ ย่อมจะขำจนไม่อาจกลั้นหัวเราะได้

โจวโยวหวางดำเนินการตามนั้นทันที โดยชวนนางเปาซื่อขึ้นกำแพงเมืองจีน แล้วจุดไฟให้เกิดควัน แน่นอนว่าสามนตราชตามหัวเมือง ก็ยกทัพเข้ามาจริง สุดแต่ใครจะมีกำลังพลเท่าไหร่ แล้วโจวโยวหวางก็ชี้ชวนนางให้ดู อาการรีบร้อนของบรรดาสามนตราช ที่คิดว่าเกิดเหตุร้าย

นางเปาซื่อหัวเราะออกมาจริงๆ เสียด้วย แต่บางทีจะเพราะนางขำจริงๆ หรืออาจจะสะใจต่อความฉิบหายของโจวโยวหวาง ที่เห็นได้ชัดว่าจะเกิดตามมา ก็ไม่ได้มีบันทึกชัดเจน

แต่นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อำนาจราชวงศ์โจวก็เสื่อม บรรดาสามนตราชต่างแข็งเมือง ที่สุดเมื่อมีภัยประชิดนครหลวง เมื่อจุดไฟขึ้น ก็ไม่มีใครมาช่วยอีกต่อไป แล้วพระเจ้าโจวโยวหวางก็ถูกสับเนื้อเป็นเลนตม ประเทศถูกแบ่งแยกออกเป็นรัฐใหญ่น้อย เข้าสู่ยุคมืดที่เรียกว่าชุนชิว ซึ่งแก่งแย่งรบพุ่งกันมาอีกห้าร้อยกว่าปี ความแตกแยกครั้งแรกของประวัติศาสตร์จีน สตรีถูกโทษว่าเป็นสาเหตุ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *