เปาบุ้นจิ้น

เปาบุ้นจิ้น ตอน เงินปลอมเป็นเหตุ

เปาบุ้นจิ้น
เปาบุ้นจิ้น

เปาบุ้นจิ้น ตอน เงินปลอมเป็นเหตุ ในระยะที่ผู้ชมโทรทัศน์ในประเทศไทย พากันติดอกติดใจเทปโทรทัศน์ จากประเทศจีน ระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๗ – ๒๕๓๘ นั้น ดูเหมือนจะไม่มีเรื่องใดโด่งดังเท่า “เปาบุ้นจิ้น” แม้จะมีเรื่อง กวนอู หรือ ขงเบ้ง หรือ สามก๊กฉบับสมบูรณ์ กับเรื่องเกี่ยว กับพงศาวดารจีนอื่น ๆ มาแข่งขันในเวลาใกล้เคียงกัน ก็ปรากฎว่าความนิยมชมชอบใน เรื่อง เปาบุ้นจิ้น ก็มิได้ลดลงเลย

ความจริงเรื่องของเปาบุ้นจิ้นนั้น มิใช่จะมาปรากฎตัวให้เป็นที่รู้จักกันในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ได้มีชื่อเสียงเลื่องลือกันมา ตั้งแต่ครั้งที่ หลวงดำรงธรรมสาร ซึ่งดูตามราชทินนามน่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงตุลาการได้ว่าจ้าง นายหยอง ทหารปืนใหญ่ ซึ่งคงจะมีเชื้อสายจีน ให้แปลเรื่อง “เปาเล่งถูกงอั้น” จากภาษาจีนเป็นภาษาไทย และ มอบหมายให้ นายวรรณ (เทียน วรรณาโภ) เป็นผู้เรียบเรียงตกแต่งถ้อยคำสำนวนให้ เป็นที่เรียบร้อย ตีพิมพ์ให้ประชาชนได้อ่านกันมาก่อน พ.ศ.๒๔๔๑ หรือในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกือบร้อยปีมาแล้ว

เปาเล่งถู นั้นก็คือบรรดาศักดิ์ของท่าน เปาบุ้นจิ้น นั่นเอง ตามคำนำ ในการพิมพ์ครั้งแรก ได้แนะนำไว้ว่า เปาบุ้นจิ้นเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน ในราชวงศ์ซ้อง ของประเทศจีน ซึ่งอยู่ในระหว่าง พ.ศ.๑๕๐๓ – ๑๘๑๙ เป็นผู้ได้รับพระบรมราชานุญาตจากฮ่องเต้ ให้มีอำนาจตัดสินคดีความระงับเรื่องเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร ต่างพระเนตรพระกรรณ ถึงขนาดถอดถอนเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ได้ กับสามารถลงโทษผู้ที่ กระทำความผิดได้ถึงขั้นประหารชีวิต โดยไม่ต้องนำความขึ้นกราบทูลก่อน ซึ่งเปาบุ้นจิ้น ก็ได้ใช้อำนาจนั้น ด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลม และตั้งอยู่ในความยุติธรรมเที่ยงตรง จึงมี
ชื่อเสียงเป็นที่นับถือกันทั่วไปทั้งแผ่นดิน ดังคำกลอนของผู้แปลที่สรรเสริญไว้ ดังนี้

“…..ด้วยเห็นว่าน่าอ่านศาลตัดสิน ไม่ป่ายปีนแบบฉบับตำรับสอน
ยุติธรรมถูกกฎบทบวร ท่านแต่ก่อนวินิจฉัยในคดี
ได้ตรวจความตามเป็นรู้เห็นแล้ว เปรียบด้วยแก้วเจียระไนที่ใสศรี
ถ้าใครจำทำในใจในวิธี ตำแหน่งที่พิพากษาเบื้องหน้าไป
ย่อมเป็นเครื่องปรุงญาณวิจารณ์เห็น แก่ผู้เป็นกรรมการในศาลใหญ่
โดยระเบียบเทียบคดีชอบที่ใช้ จะเห็นในเท็จจริงสิ่งสำคัญ
ให้เท็จแท้แพ้จริงไม่กลิ้งศัพท์ จะไม่กลับจริงแท้แพ้เท็จผัน
ความพิรุธทรุดสำนวนควรเป็นธรรม์ บางเรื่องนั้นจริงที่สุดแต่ทรุดมี
ถ้าใครจำสำเนาไม่เดาดื้อ ฉลาดซื่อจึงจะชอบรอบวิถี
อันองค์ห้าอย่าได้ละจึ่งจะดี สิ้นชีวีชื่อยังดังอยู่นาน…..”

สำหรับคำว่าองค์ห้า ท่านก็ได้ขยายความออกไปให้ฟังอย่างชัดเจนว่า

“…..อันพร้อมด้วยองค์ห้าเป็นข้าบาท ทั้งฉลาดทั้งตรงคงวิถี
หนึ่งคือสุจริตดวงจิตฟรี ไม่มีที่คัดค้านสถานใด
สองคือสัตย์ตัดมุสาวาจาเที่ยง ไม่กลิ้งเกลี้ยงเช่นลูกปืนขืนนิสัย
สามเมตตาปราณีไมตรีใน ผู้ดีไพร่ทั่วเที่ยงไม่เอียงออม
สี่หมั่นกตัญญูพระผู้เป็นเจ้า ที่ปกเกล้าชนทั้งสิ้นทรงกลิ่นหอม
ห้ากำหนดอดกลั้นขันติพร้อม มิได้ยอมแพ้กิเลสเจตนา…..”

ตัวอย่างความปรีชาสามารถของเปาบุ้นจิ้นหรือ เปาเล่งถู นั้นมีอยู่มากมาย จะขอเล่าให้ฟังเป็นอุทธาหรณ์สักเรื่องหนึ่ง

เหตุเกิดขึ้นที่เมืองเพ่งเหลียงหู มีซินแสหมอดูชื่อ ม่งปิ๊ด กับชายหนุ่มชื่อ ลอคิม เข้ามายื่นคำร้องฟ้องต่อศาล อ้างกรรมสิทธิ์ในกระเป๋าเงินใบหนึ่ง ว่าเป็นของตน

ท่านเปาเล่งถูก็ถามม่งปิ๊ดก่อน ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร

ม่งปิ๊ดก็เล่าว่าตนไปซื้อของในตลาด ซึ่งมีคนเบียดเสียดยัดเยียดกันมาก จึงทำกระเป๋าเงินหล่นลงบนพื้น พอก้มลงเก็บชายหนุ่มคนนี้ก็เข้ามาแย่ง อ้างว่าเขาเห็นกระเป๋าตกอยู่ก่อน จะให้แบ่งเงินในกระเป๋าคนละครึ่ง ซึ่งตนไม่ยอมเพราะเป็นกระเป๋า ของตนเอง

ท่านเปาก็ถามลอคิมบ้าง ลอคิมก็ให้การว่า ตนเห็นกระเป๋าเงินตกอยู่ที่พื้นในตลาดโดยไม่มีเจ้าของ จึงวิ่งเข้ามาจะเก็บ แต่หมอดูคนนี้กลับยื้อแย่ง ตู่ว่าเป็นของตัวเอง ตนจึงไม่ยอม ต้องแบ่งเงินกันคนละครึ่งจึงจะถูกต้อง

ท่านเปาก็หันกลับมาถามม่งปิ๊ดว่า เมื่อไปตลาดได้ซื้อของอะไรบ้าง ซินแสหมอดูผู้มีชื่อเสียงก็บอกว่า ซื้อกาน้ำกับผ้ายังอยู่ที่คนใช้ซึ่งรออยู่ที่หน้าร้าน ท่านเปาก็ให้ ม่งปิ๊ดพาพนักงานไปดูสิ่งของที่คนใช้ ก็เห็นจริงตามคำให้การ ท่านจึงถามลอคิมว่า การที่เห็นกระเป๋าเงินก่อนนั้นมีพยานหรือไม่ ลอคิมก็นำพยานสองคนมาเบิกความตรงกันอีก

ท่านเปาเล่งถูย้อนถามม่งปิ๊ดว่า เงินในกระเป๋านี้มีมากน้อยเท่าใดแน่ ม่งปิ๊ดว่าเงินมีอยู่ทั้งหมดสิบตำลึงเศษ แต่ได้แตกใช้ซื้อของไปแล้ว เหลือเท่าไรจำไม่ได้

ลอคิมเห็นได้ทีก็เสริมว่า เพราะมิใช่เงินของตนเอง เป็นเงินของคนอื่นทำตกไว้ จึงตอบไม่ถูก

ท่านเปาจึงตัดสินให้แบ่งกันคนละครึ่ง เมื่อเทกระเป๋าออกดู ปรากฎว่า มีเงินอยู่แปดตำลึงกับเบี้ยห้าร้อยอีแปะ ทั้งสองจึงได้เงินไปคนละสี่ตำลึงกับสองร้อยห้าสิบอีแปะ

เมื่อคู่ความต่างแยกย้ายกันลงจากศาลไปแล้ว ท่านเปาเล่งถูก็ให้ลิ่วล้อ ชื่อเบ้งกี่ สะกดรอยตามทั้งสองฝ่ายไปดูว่าผู้ใดจะว่าอย่างไรในการตัดสินครั้งนี้ เบ่งกี่นั้นตามม่งปิ๊ดไปก็ได้ยินบ่นว่า เปาเล่งถูชำระความไม่ถูกต้องไม่ยุติธรรม สำหรับลอคิมนั้นไม่บ่นว่าอะไรเลย แต่เอาเงินที่ได้นั้นแบ่งให้แก่พยานทั้งสองคน ได้คนละเท่าใดเห็นไม่ถนัด จึงกลับมารายงานท่านเปา ตามที่ได้ยินและได้เห็น

ท่านเปาก็ให้เรียกตัว หยินอุ่น ซึ่งไม่ใช่พนักงานศาลมาอีกคนหนึ่ง แล้วให้เงินปลอมไปห้าตำลึง เพื่อเอาไปเที่ยวตลาดล่อพวกทุจริต และให้เบ้งกี่ไปเป็นเพื่อนด้วย ทั้งสองก็กลับไปเดินฉุยฉายอยู่ในตลาด เห็นลอคิมกับเพื่อนสองคนยืนอยู่หน้าร้านชมพู่ หยินอุ่นกับเบ้งกี่ก็เข้าไปซื้อชมพู่กิน โดยควักกระเป๋าให้เห็นเงินห้าตำลึง แล้วก็ชวนลอคิม กับเพื่อน ไปดูงิ้วที่ศาลเจ้าตังงักด้วย

เมื่อถึงโรงงิ้วเพื่อนสองคนของลอคิม ก็ยืนประกบ หยินอุ่นสองข้าง ตัวลอคิมยืนเบียดอยู่ด้านหลัง พอเห็นว่าหยินอุ่นดูงิ้วอย่างเพลิดเพลินก็ตัด สายกระเป๋าเงินขาด แล้วคว้ากระเป๋าวิ่งหนีไป พอหยินอุ่นรู้ตัวจะไล่ตามเพื่อนของลอคิม
ทั้งสองข้างก็คว้าแขนไว้ ทำเป็นถามว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น

หยินอุ่นกับเบ้งกี่จึงประกาศว่า ทั้งสองถือคำสั่งของท่านเปาเล่งถูให้มาสืบจับตัวผู้ร้ายนักตัดช่องย่องเบา และวิ่งราวทรัพย์ บัดนี้คนทั้งสองแกล้งยื้อยุดฉุดมือไว้ ไม่ให้ติดตามคนร้าย ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน ทั้งเบ้งกี่และหยินอุ่นจึงจับเพื่อนของลอคิม เอาตัวไปส่งศาล

จำเลยคนหนึ่งชื่อ เตียเสียม อีกคนหนึ่งชื่อ หลีเหลียง อ้างว่ากำลังดูงิ้วอยู่ ไม่ได้รู้เห็นกับผู้ร้ายที่วิ่งราวตัดกระเป๋าเงินด้วยเลย ท่านเปาจึงสั่งให้พนักงานไปบอกความลับกับนายด่านเมืองนั้น แล้วพิพากษาว่าโทษของจำเลยทั้งสอง สมรู้เป็นใจกับคนร้าย ให้ลงโทษตีให้สาหัส แล้วเนรเทศไปอยู่นอกเมือง จากนั้นก็ให้ผู้คุมนำตัวจำเลยทั้งสองไปให้นายด่านลงโทษตามคำสั่งศาล

เมื่อทั้งสองจำเลยถูกคุมตัวมาที่ด่าน เห็นนายด่านเตรียมเครื่องจองจำ และเครื่องมือลงโทษครบครันก็ใจฝ่อ รำพึงว่าตนเองไม่ได้ทำผิด ไฉนจึงต้องมารับโทษแทนผู้ร้ายอย่างนี้ นายด่านก็กระซิบว่า ถ้าจะให้ลดหย่อนผ่อนโทษลงบ้าง ก็จงไปหาเงินมาชดใช้ เท่ากับจำนวนที่คนร้ายช่วงชิงวิ่งราวเจ้าทุกข์ ให้ได้ภายในสามวัน แล้วก็ถอดเครื่องจองจำออก

เตียเสียมกับหลีเหลียงก็กลับไปบ้านและเอาเงินมาให้นายด่านห้าตำลึงเศษ นายด่านก็เอาเงินนั้นมาให้เปาเล่งถู ท่านเปาก็เรียกเบ้งกี่และหยินอุ่นมาดูเงินที่ได้รับมา ทั้งสองก็ยืนยันว่าเป็นเงินที่ถูกวิ่งราวไปแน่นอน

เปาเล่งถูจึงให้เจ้าพนักงานไปตามตัวเตียเสียมกับหลีเหลียงมาอีกครั้งแล้วก็ ว่า เงินที่ทั้งสองนำมาใช้หนี้นั้น เป็นเงินที่ถูกแย่งชิงไป ถ้าทั้งสองไม่ได้ทำผิดแล้ว เหตุใดเงินของกลางจึงมาอยู่ที่ตัวได้ คราวนี้ถ้าไม่รับจะต้องลงโทษให้หนักกว่าเก่า ทั้งสองจำเลยก็จำนนต่อหลักฐาน จึงยอมให้การรับสารภาพว่า ลอคิมเป็นคนตัดกระเป๋าแล้วเอาเงินให้ หลิมไท่ ไปแตกเป็นเงินย่อยเพื่อจะแบ่งกัน แต่เงินนั้นเป็นเงินปลอม แลกไม่ได้จึงเอามาคืน เพื่อให้ทั้งสองนำมาถ่ายโทษตนเอง

ท่านเปาจึงให้พนักงานไปคุมตัว ลอคิม หลิมไท่ มาพร้อมหน้ากัน แล้วก็พิพากษาว่า ลอคิมกับพวกเป็นผู้ทุจริต ร่วมกันฉ้อโกงเงินของซินแสม่งปิ๊ด แล้วยังซ้ำรวมหัวกันตัดกระเป๋าฉกเงินของหยินอุ่นอีก บัดนี้หลักฐานปรากฎชัดแจ้งแล้ว จึงให้โบยคนละห้าสิบที แล้วเนรเทศไปอยู่เมืองไกล กำหนดสามปีจึงพ้นโทษกลับมาอยู่ถิ่นฐานบ้านเดิมได้

คดีเรื่องนี้ก็สิ้นสุดลงอย่างยุติธรรม เพราะเปาเล่งถู พยายามที่จะหาหลักฐานมามัดตัวผู้ต้องหาทั้งสี่นาย ทีละขั้นตอนอย่างรอบคอบ ไม่ได้ใช้ลิ่วล้อให้เอาตัวไปซ้อม หรือกักขังให้อดอยากแต่ประการใด เมื่อฝ่ายจำเลยจำนนต่อหลักฐาน จนไม่รู้ว่าจะแก้ตัวอย่างไรแล้ว จึงตัดสินโดยไม่มีอคติ สมควรเป็นที่ยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่ง.

เล่าเซี่ยงชุน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *